ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาขยะและน้ำเสีย ถือเป็นวิกฤตปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เมืองใหญ่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ไม่เว้นแม้แต่กรุงเทพมหานคร ที่ปัจจุบันมีจำนวนขยะมากที่สุด เนื่องจากมีประชากรมากที่สุดในประเทศ ถึงวันละ 10,000 ตันต่อวัน อีกทั้ง มีปริมาณน้ำเสียปล่อยทิ้งแหล่งน้ำสาธารณะอีกกว่า 2.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน กว่าร้อยละ 70 เป็นน้ำเสียจากชุมชน ที่มักถูกปล่อยทิ้งโดยไม่ผ่านกระบวนการบำบัดอย่างเหมาะสม ส่งผลให้แม่น้ำ คู คลอง เน่าเสีย ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว อีกทั้ง ยกวาระขยะขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ และถือเป็นเรื่องเร่งด้วนที่ควรได้รับการแก้ไข
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำศูนย์เรียนรู้การจัดการสิ่งแวดล้อมล้อมโดยองค์กร (Green Corporate) โครงการส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน ภายใต้แนวคิด “Bangkok Green Community ชุมชนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เพื่อพัฒนาและส่งเสริมกระบวนการการจัดการขยะ น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม ตามโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการแล้ว ตลอดจนขยายผลในย่านคลองใหม่ และกลุ่มเป้าหมายองค์กรอื่น ๆ พร้อมถอดบทเรียนความสำเร็จ เพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นคู่มือชุมชน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ต่าง ๆ ให้ความรู้แก่ชุมชน อาทิ การคัดแยกขยะ การนำขยะไปหมักเพื่อให้ได้น้ำจุลินทรีย์ เกิดผลิตภัณฑ์ในแต่ละชุมชน ซึ่งชุมชนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ช่วยเพิ่มรายได้ และสร้างเศรษฐกิจในชุมชน ตามแนวคิด “จุดประกายชีวิต จุดประกายเศรษฐกิจสีเขียว”
ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการแล้วใน 6 ย่านคลอง และในปี 2557 – 2558 ได้เพิ่มการดำเนินงาน โดยคัดเลือกพื้นที่ย่านคลองและจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ประจำย่านคลองในพื้นที่ย่านคลองใหม่ โดยคัดเลือกพื้นที่ย่านคลองและจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ประจำย่านคลองในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต ได้แก่ (1) ย่านคลองบางซื่อ เขตพญาไท (กรุงเทพกลาง) (2) ย่านคลองพระโขนง เขตคลองเตย (กรุงเทพใต้) (3) ย่านคลองสอง เขตสายไหม (กรุงเทพเหนือ) (4) ย่านคลองแสนแสบ เขตบางกะปิด (กรุงเทพตะวันออก) (5) ย่านคลองบางพรหม-คลองขุด เขตทวีวัฒนา (กรุงธนเหนือ) และ (6) ย่านคลองบางจาก เขตบางแค (กรุงธนใต้) นอกจากนี้ สำนักสิ่งแวดล้อม ยังได้ขยายผลแนวคิดการจัดการขยะ น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน ในกลุ่มเป้าหมายระดับองค์กรอื่น ๆ อีก 16 แห่ง ประกอบด้วย (1) ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (2) กรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) (3) ศูนย์บริการสาธารณสุข 50 (4) สถานีรถฟ้ากรุงเทพ (หัวลำโพง) (5) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร (6) คริสตจักรแห่งพันธสัญญากรุงเทพ (7) หมู่บ้านบุราสิริ (ท่าข้าม-พระราม 2) (8) หมู่บ้านพฤกษา 70 (ฉลองกรุง-นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง) (9) คอนโดดีคอนโด (สาธุประดิษฐ์ 49) (10) คอนโดไอดีโอ โมบิ (สาทร) (11) ตลาดสดสามย่าน (12) ตลาดนางเลิ้ง (13) ร้านอาหารครัวเจ๊ง้อ (สาขาถนนกาญจนาภิเษก (14) ร้านอาหารอ่านกระเบนซีฟู้ด (15) สถานีน้ำมัน ปตท. (สวัสดิการ ร.1 รอ.) และ (16) สถานีบริการน้ำมัน ปตท. (ทางด่วนบางนา – ขาเข้า) ซึ่งแต่ละแห่งเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบการจัดการสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานคร ร่วมพัฒนากระบวนการและวิธีการจัดการขยะ น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยให้ความรู้แก่ประชาชน ชุมชนและองค์กรอื่น ๆ ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้พร้อมฝึกปฏิบัติกระบวนการบำบัดน้ำเสียและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การนำขยะอินทรีย์ไปแปรรูปใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อให้สามารถจัดการขยะ น้ำเสียและสิ่งแวดล้อม ณ แหล่งกำเนิดอย่างเป็นระบบได้ โดยหลังจากเปิดตัวโครงการฯ ได้รับการตอบรับและได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นอย่างดี
ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวในท้ายสุดว่า โครงการส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน ภายใต้แนวคิด “Bangkok Green Community ชุมชนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญและพยายามส่งเสริมขยายผลให้เกิดขึ้นทั้งในระดับชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการ และระดับองค์กรต่าง ๆ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อันจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้กรุงเทพมหานครเป็น “มหานครสีเขียว” น่าอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit