กระทรวงวัฒนธรรม จัดงานสงกรานต์ สืบสานประเพณีไทย สุขใจไทยทั่วหล้า ทั่วประเทศ

03 Apr 2015
เมื่อวันอังคารที่ 31 มีนาคม 2558 ณ ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงวัฒนธรรม จัดกิจกรรมรณรงค์สงกรานต์...สืบสานประเพณีไทย สุขใจไทยทั่วหล้า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ร่วมชมกิจกรรม

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม บูรณาการหน่วยงานในสังกัด ศูนย์การค้าสยามพารากอน สภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายด้านวัฒนธรรม จัดกิจกรรมสงกรานต์ทั่วประเทศ เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม และสืบสานสาระคุณค่าของประเพณีสงกรานต์ “คุณค่าครอบครัว คุณค่าต่อชุมชนคุณค่าต่อศาสนา” ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ที่สำคัญของไทยให้ยังคงความงดงามและสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของไทย โดยเน้นการจัดกิจกรรมในรูปแบบดั้งเดิม ดังนี้

๑. การจัดงานสงกรานต์แบบดั้งเดิม ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เป็นการจัดประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยในส่วนกลางจัดที่วัดสำคัญ จำนวน ๗ วัด ได้แก่ ๑.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชมหาวิหาร เขตพระนคร ๒.วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตพระนคร ๓.วัดสุทธาโภชน์ เขตลาดกระบัง ๔.วัดบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน ๕.วัดสุวรรณรามราชวรวิหาร เขตบางกอกน้อย ๖.วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เขตปทุมวัน และ ๗.วัดเสมียนนารี เขตจตุจักร เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดกิจกรรมสงกรานต์แบบดั้งเดิม ให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าวัดทำบุญ ตักบาตร ขนทรายเข้าวัด เลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ และทำความสะอาดวัดและลานวัด ซึ่งเป็นการสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับความบันเทิง สนุกสนาน เช่น การสรงน้ำ พระสารีริกธาตุ ก่อเจดีย์ทราย รำวงย้อนยุค การแสดงลิเก การละเล่นเด็กไทย เป็นต้น ที่สำคัญในวันจันทร์ที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๘ ที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร จะมีคณะทูตานุทูตที่ประจำประเทศไทยเข้าร่วมงานสงกรานต์ สืบสานประเพณีไทย สุขใจไทยทั่วหล้า อีกด้วย สำหรับในส่วนภูมิภาคจะมีการจัดงานที่วัดสำคัญของทุกจังหวัด

๒.การสักการะ ๙ พระพุทธรูปมงคลโบราณ เป็นการอัญเชิญพระพุทธรูปมงคลโบราณ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และคลังกลางจังหวัดปทุมธานี มาประดิษฐานยัง Hall of Fame ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๕ เมษายน ๒๕๕๘ จำนวน ๙ องค์ ได้แก่ ๑) พระพุทธรูปประทานพร มีความหมาย การให้พรตามคำอธิษฐานขอผู้สักการะ ๒) พระไภษัชยคุรุ ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าผู้ช่วย สัตว์โลกทั้งปวงพ้นทุกข์อันเกิดโรคทางกาย และโรคทางใจ ตลอดจนช่วยให้ชีวิตยืนยาว ๓) พระหายโศก เป็นพระพุทธรูปที่นำมาใช้ในพระราชพิธีต่างๆ เนื่องด้วยมีพระนามอันเป็นศุกมงคล ๔) พระพุทธรูปประทับ รอยพระพุทธบาท หมายถึง การบูชาพระพุทธเจ้า ๔ องค์ คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า และโคตมพุทธเจ้า ๕) พระพุทธรูปห้ามสมุทร หมายถึง การป้องกันภัยอันตราย การปราศจากจากความหวาดกลัว ๖) พระพุทธรูปทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ หมายถึง การปกป้องอันตราย ๗) พระล้อม (พระห้าร้อย) นิยมบูชาเพื่อโชคลาภ ทรัพย์สิน ความมั่งคั่ง ความอุดมสมบูรณ์เป็นพิเศษ ๘) พระพุทธรูปขอฝน (พระคันธารราษฎร์) อำนวยความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล พื้นดินอุดม พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ และ๙) พระชัยเมืองนครราชสีมา หมายถึง ความมีชัยชนะเหนือศัตรู ขจัดอุปสรรค อำนวยให้พิธีกรรมสำเร็จผล นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย และการแสดงร่วมสมัย ได้แก่ การแสดงนาฏศิลป์และดนตรีไทย จากกรมศิลปากรสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย การแสดงพื้นบ้าน จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม สภาวัฒนธรรมกรุงเทพฯ

๓. งาน “WaterFestival ๒๐๑๕ วิถีน้ำวิถีไทย” กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน จัดงาน “Water Festival ๒๐๑๕ เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย” ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน ๒๕๕๘ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๒๔.๐๐ น. ใน ๗ พื้นที่ ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ท่ามหาราช ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค และเอเชียทีค เดอะรีเวอร์ฟร้อนท์ เพื่อสานต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนไทย และวิถีการท่องเที่ยวทางน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ กิจกรรม ลงเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปไหว้พระ ๔ วัด รับ ๙ สิริมงคล ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวราราม วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร สัมผัสกลิ่นอายของวิถีชีวิตชุมชน ณ ท่ามหาราช แหล่งรวมวัตถุบูชาที่ใหญ่และเก่าแก่ ณ ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค ที่สำคัญไฮไลท์ของการจัดกิจกรรมคือที่ เอเชียทีค ซึ่งจัดบรรยากาศแบบย้อนยุค โดยจะมีเรือด่วนเจ้าพระยารับส่งฟรีทุกวัน

๔. การรดน้ำขอพรจากศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานดีเดินทางวัฒธรรม เพื่อเป็นแบบอย่างของ พิธีรดน้ำขอพรผู้อาวุโส ในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

๕. การจัดงานสงกรานต์เมืองหน้าด่านวัฒนธรรม จำนวน ๔ เมือง ได้แก่

  • มหาสงกรานต์เมืองหน้าด่านวัฒนธรรมอาเซียน ไทย-เมียนมาร์ ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายน ๒๕๕๘ ณ ด่านพรมแดนแม่สอด-เมียวดี อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
  • สงกรานต์เมืองหน้าด่านวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย - ลาว อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๘ เมษายน ๒๕๕๘ ณ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
  • มหาสงกรานต์เมืองหน้าด่านวัฒนธรรมอาเซียน ไทย-กัมพูชาระหว่างวันที่ ๑๓-๑๔ เมษายน ๒๕๕๘ ณ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
  • สงกรานต์เมืองหน้าด่านวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๔ เมษายน ๒๕๕๘ ณ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

๖. การจัดทำสื่อเพื่อใช้รณรงค์ เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณค่าสาระประเพณีสงกรานต์ ของไทย ได้แก่ พัด DOs&DON’tsสงกรานต์ หนังสือประเพณีสงกรานต์ในรูปแบบภาษาไทย – อังกฤษ และซีดีข้อมูลประเพณีสงกรานต์ สิ่งที่ควรปฏิบัติ/ไม่ควรปฏิบัติ ประกาศสงกรานต์ประจำปี ๒๕๕๘ พร้อมภาพ นางสงกรานต์ประจำปี และการจัดทำ E-Card หรือบัตรอวยพร เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้ส่งความสุขปีใหม่ แบบไทยในวันสงกรานต์ได้ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๘ เป็นต้นไปที่ เว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.culture.go.th

๗. การอ่านสารนายกรัฐมนตรี เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๕๘ ในสถานที่จัดงานสงกรานต์ ที่แสดงถึงความรักและความปรารถนาดีไปยังประชาชนชาวไทยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

๘. คำปราศรัยของนายกรัฐมนตรี เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๕๘ โดยจะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๘

กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรมในงานสงกรานต์ สืบสานประเพณีไทย สุขใจไทยทั่วหล้า ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สายด่วนวัฒนธรรม ๑๗๖๕ และ www.m-culture.go.th