สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th
ผศ. กรองแก้ว ทิพยศักดิ์ อาจารย์จากสาขาวิชาเคมีสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า การเกิดไฟเป็นผลมาจากปัจจัย 3 องค์ประกอบ หรือ ที่เรียกว่า สามเหลี่ยมไฟ (Fire triangle) คือ ความร้อน ออกซิเจน และเชื้อเพลิง ถ้าครบสามองค์ประกอบทำให้เกิดการติดไฟได้ สาเหตุของการเกิดไฟป่าทั้งจากทางธรรมชาติ หรือ ฝีมือมนุษย์ การมีความร้อนเกิดในป่ามีสาเหตุหลักจากการกระทำของมนุษย์ ทั้งการกระทำโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ซึ่งในฤดูแล้งมีเศษซากใบไม้ กิ่งไม้แห้งสะสมอยู่เป็นจำนวนมากเป็นเชื้อเพลิงที่ดี เช่นในเขตภาคเหนือ เชื้อเพลิงจากต้นสน จากกิ่ง ใบลำต้นมีน้ำมันสน ใบแห้งจากต้นสัก เชื้อเพลิงที่มีขนาดเล็กและมีความชื้นต่ำ ปริมาณเชื้อเพลิงที่มีมาก ย่อมเกิดไฟที่รุนแรงเมื่อได้รับความร้อนและมีออกซิเจนจากบรรยากาศ ทำให้ครบทั้ง 3 องค์ประกอบในการเกิดสามเหลี่ยมไฟ ติดไฟและลุกลามได้ง่าย โดยในปี 2557 มีพื้นที่ป่าของประเทศไทยมีอัตราการเกิดไฟป่าจำนวนมากถึง 3,372 ครั้ง มีอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าที่ 31,831.59 ไร่ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในอัตราที่สูง ซึ่งมักเกิดในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูหนาวเป็นฤดูร้อนจึงมีใบไม้แห้งผลัดใบทับถมกันจำนวนมากกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี นอกจากนี้ อากาศที่แห้งส่งผลให้ไฟป่าที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงของเปลวไฟมากกว่าปกติจากปริมาณเชื้อเพลิงสะสมที่มีความรวดเร็วในการเผาไหม้สูงอีกทั้งหัวไฟจะปลิวตามกระแสลมที่เร็วและลามติดกันง่ายกว่าปกติ ทั้งนี้ สำหรับผลกระทบ และอันตรายของไฟป่าส่งผลกระทบต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยสามารถสรุปได้ดังนี้· ผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้สูดดมควันไฟ ปัญหามลภาวะทางอากาศ เช่น เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ประชากรในชุมชน การเผาไหม้ของไฟป่าแบบมีออกซิเจนน้อย หรือ เชื้อเพลิงขนาดใหญ่ จะเห็นเป็นควันขาวเป็นการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ (Incomplete combustion) ทำให้ได้รับก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) และไอของสารอินทรีย์จากการเผาไหม้เป็นควัน และเขม่า ฝุ่นละอองขนาดน้อยกว่า 10 ไมครอน หรือที่เรียกว่า PM10 ถ้าได้รับก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ปริมาณมาก ดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต ขัดขวางการแลกเปลี่ยนออกซิเจนสู่อวัยวะต่างๆของร่างกาย อาจทำให้หมดสติ และ เสียชีวิตได้ และถ้า PM10 ตกค้างตามทางเดินหายใจ หลอดลม หายใจลำบาก การสูดดมในระยะยาว หรือ ได้รับเรื้อรัง ทำให้เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ มีอาการหืดหอบ หัวใจทำงานหนักมากกว่าปกติ โดยมีสถิติพบว่าเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าในสหรัฐอเมริกาถึง 21.9 % เสียชีวิตจากการหัวใจวายในช่วงปี ค.ศ. 1990-2006 การได้รับควันไฟในระยะยาว PM10 หรือเขม่าอาจมีองค์ประกอบเป็นสารกลุ่มพอลิอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Poly aromatic hydrocarbon, PAHs) ที่ผู้สูดดมเขม่าควันไฟเข้าไปมี ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ · ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
1.) ผลกระทบต่อโครงสร้างของป่าเปลี่ยนแปลง เช่น ผลต่อสังคมพืช กรณีที่เกิดไฟป่าไม่รุนแรงอาจเป็นผลดีกับสังคมพืช เป็นการลดจำนวนวัชพืช ทำให้เมล็ดที่หล่นตามผิวดิน ปริแตก สามารถงอกต้นอ่อนได้ง่ายเมื่อรับความชื้น และแตกใบใหม่ได้ แต่ถ้าไฟป่ามีความถี่มาก รุนแรงมาก อาจทำให้พืชที่อ่อนบางชนิดสูญพันธุ์ หรือ พืชต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ความหลากหลายทางชีวภาพอาจเปลี่ยนแปลง สายพันธุ์ที่แกร่งสามารถเจริญต่อไปได้เมื่อถึงฤดูฝน ในส่วนผลต่อสังคมสัตว์ก็คล้ายคลึงกัน สัตว์หน้าดินหรืออาศัยในป่าพบไฟป่ารุนแรง หลบหนีไม่ทันทำให้ ตาย ปริมาณลดน้อยลง รบกวนสมดุลของระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารของป่าเกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าธรรมชาติได้
2.) ผลกระทบต่อพื้นดิน แร่ธาตุอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่นไนโตรเจน เสื่อมสลายไปกับการเผาไหม้ได้ จุลลินทรีย์ที่มีบทบาทในการย่อยสลายสารตามธรรมชาติถูกทำลาย วัฏจักรการหมุนเวียนของธาตุอาหาร และระบบนิเวศเสื่อมสลาย ไม่ดำเนินไปตามปกติ เมื่อไม่มีพืชปกคลุมดิน ไม่มีรากพืชยึดเกาะก้อนดินทำให้เกิดการกัดเซาะหรือพังทลายของหน้าดินจากลม ฝน และน้ำที่ไหลผ่านได้ง่าย คุณภาพของดินอาจเสื่อมโทรมได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันเมื่อสังคมพืชเปลี่ยนแปลงไป มีพืชลดน้อยลงดินมีความสามารถในการซับน้ำ กักเก็บไว้ในดินได้ต่ำลง ทำให้ความชุ่มชื้นบริเวณนั้นลดลงหรือมีความร้อนสะสมได้ง่าย เป็นองค์ประกอบในการเกิดไฟ วนเวียนต่อไปเรื่อยๆ ส่วนในฤดูฝนอาจเกิดน้ำท่วม เนื่องจากดินไม่สามารถกักเก็บ น้ำฝนได้ จึงไหลลงลำธารอย่างรวดเร็วจนเกินที่รองรับได้ เป็นปัญหาน้ำท่วมตามมา
3.) ผลกระทบต่อสภาพแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของสัตว์ป่าเกิดความเปลี่ยนแปลง ทำให้ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ถ้าไม่มีการควบคุมทำให้เกิดปัญหาบุกรุกผืนป่ามาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมได้
4.) ผลกระทบต่อสภาพทัศนวิสัย การมองเห็น หมอกควันไฟป่าส่งผลกระทบต่อการมองเห็นในการสัญจร มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเนื่องจากมองไม่เห็น เครื่องบินไม่เห็นภูมิทัศน์ ไม่สามารถนำเครื่องบินขึ้น หรือ ลงได้ตามปกติ ไม่สามารถมองสภาพภูมิทัศน์ส่งผลต่อสถานการณ์การเดินทาง การท่องเที่ยวด้วย
5.) ผลกระทบต่อสภาพบรรยากาศในระยะยาว เกิดภาวะเรือนกระจก หรือ ภาวะโลกร้อน(Greenhouse effect) โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เป็นสาเหตุสำคัญ ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของโลกเป็นอย่างมาก เป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ มากมาย เช่น ฝนตกผิดฤดูกาล น้ำท่วม หรือ ปัญหาปริมาณฝนตกน้อย เกิดความแห้งแล้ง ไฟป่าต่อเนื่อง และผลกระทบที่รุนแรงสามารถย้อนกลับเข้าสู่การดำรงชีวิตของมนุษย์ ทำให้เกิดความเสียหายทั้งทางด้านสุขภาพอนามัย เศรษฐกิจ และ สังคม
ด้าน ผศ. ดร.ทรงวุฒิ เอกวุฒิวงศา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลุกลามของไฟป่า อันจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศโดยรวม จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาการป้องกันไฟป่า เป็นการสร้างแนวกีดขวางไฟป่า(Firebreaks or Fuelbreaks) ด้วยการกำจัดเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดไฟป่าออกไปจนถึงชั้นดินแท้ (Mineral Soil) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟป่าลุกลาม อันประกอบไปด้วย 3 นวัตกรรมกันไฟป่าขึ้น เพื่อสนับสนุนภารกิจการสร้างแนวกันไฟป่า และช่วยสนับสนุนภารกิจการดับไฟป่าขนาดเล็กของเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า ผ่านขั้นตอนการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ดับไฟป่าจากกระบวนการระดมสมอง และใช้เทคนิคกลุ่มระดมความรู้และประสบการณ์ เพื่อสร้างชิ้นงานที่มีประสิทธิภาพและเหมาะแก่การใช้งานในภารกิจมากที่สุด โดยทั้ง 3 ชิ้นงานประกอบด้วย· เป้สนามบรรทุกสัมภาระเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนไฟป่าพร้อมถังน้ำดับไฟป่าขนาดเล็ก: ตัวเป้สนามได้รับการออกแบบให้มีความสอดคล้องกับสรีระและพฤติกรรมการใช้งานของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนไฟป่า โดยใช้วัสดุที่มีความทนทานสามารถแบกรับน้ำหนัก และป้องกันการกระแทกของถังน้ำสำหรับดับไฟป่าขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี โดยตัวถังน้ำสามารถบรรจุน้ำได้ในปริมาณที่พอเหมาะพร้อมปรับแรงดันได้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดับไฟป่าขนาดเล็ก นอกจากนี้ตัวเป้สนามยังได้รับการพัฒนาให้มีลักษณะการใช้งานที่เหมาะสมกับสภาพไม้ป่าเมืองไทย ที่รก และมีก้าน หนาม สามารถก่อความเสียหายต่ออุปกรณ์ต่างๆ ได้ง่าย โดยใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำ เพียงประมาณ 1,100 บาท ต่อชุด เทียบกับการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงถึง 7,000 บาท ต่อชุดยานยนต์อเนกประสงค์เพื่อสนับสนุนภารกิจควบคุมไฟป่า: ออกแบบให้มีความเหมาะสมในการใช้งานสำหรับพื้นที่อนุรักษ์ และสามารถหาอะไหล่ทดแทนได้ง่ายเพื่อเจ้าหน้าที่ซ่อมแซมในพื้นที่ห่างไกลได้ โดยประยุกต์ใช้อะไหล่สำรองจากจักรยานยนต์ต่างๆ ทดแทนได้ มีอุปกรณ์ที่ช่วยให้สามารถชักลากยานยนต์ขึ้นจากอุปสรรค เช่น ล่มโคลนหรือน้ำที่เชี่ยวบริเวณลำธารได้ มีการผสมผสานร่วมกับการบรรทุกสัมภาระ เช่น เป้สนามบรรทุกถังน้ำที่ใช้ในการดับไฟป่าบริเวณผิวดิน เนื่องจากถือเป็นอุปกรณ์ประจำกายเจ้าหน้าที่แต่ละนายซึ่งถือเป็นการเพิ่มความรวดเร็วในการดับไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีระบบไฟส่องสว่างเพื่อลดอันตรายสำหรับการทำงานในช่วงเวลากลางคืน· เครื่องย่อยเศษเชื้อเพลิงสะสมในพื้นที่อนุรักษ์: ใช้สำหรับบดย่อยเศษเชื้อเพลิงสะสมในพื้นที่ป่า เพื่อนำเศษเชื้อเพลิงสะสมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ย่อยแล้วออกจากพื้นที่ป่าด้วยเจ้าหน้าที่ลาดตะเวนไฟป่าขนาดเล็กได้อย่างเหมาะสม และสามารถนำเศษเชื้อเพลิงสะสมที่เป็นเศษใบไม้แห้งออกจากพื้นที่ป่าในการนำมาใช้ประโยชน์โดยหน่วยควบคุมไฟป่าในด้าน การสร้างปุ๋ยหมักธรรมชาติ นำมาอัดก้อนเพื่อทำถ่านสำหรับใช้งานในหน่วยงาน และการนำมาผลิตเป็นดินเทียมเพื่อใช้เพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ไม้ ทั้งนี้ งานวิจัยยังสามารถต่อยอดเพื่อรองรับภารกิจ “ป่าเปียก” และ “ภูเขาป่า” ในการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะช่วยแก้ปัญหาไฟป่าโดยใช้วิธีต่างๆ เพื่อชะลอความชุ่มชื้นในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เก็บกักทรายหรือตะกอนที่จะไหลลงไปตามน้ำทำให้เกิดความชุ่มชื้นในผืนป่า โดยยานยนต์แบบอเนกประสงค์จะสามารถขนถ่ายวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างฝายต้นน้ำขนาดเล็กและกล้าไม้เพื่อการปลูกทดแทน และเข้าไปยังพื้นที่ทุรกันดาน หรือพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึง ให้สามารถขนถ่ายอุปกรณ์รวมถึงกำลังคนในการสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน (Check Dam) ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการเกิดไฟป่าในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวยังสอดคล้องกับแนวคิด “รากฐานนวัตกรรมสร้างชาติ: The Nation of Innovation” ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม แก้ปัญหาของประเทศ พร้อมไปกับการเติบโตและก้าวหน้าของสถาบันฯ ผศ. ดร.ทรงวุฒิ กล่าวสรุปสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit