พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 30 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันไบโพลาร์โลก (World Bipolar Day) เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหา สร้างความรู้ความเข้าใจ ช่วยลดตราบาปทางสังคมที่มีต่อโรคนี้ ซึ่ง โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคอารมณ์ผิดปกติที่พบได้บ่อยในทั่วโลก ประมาณ 1-2% ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า โรคไบโพลาร์ เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือความพิการ อันดับที่ 6 ของโลก พบได้ในผู้หญิงและผู้ชายในอัตราที่เท่ากัน อายุเฉลี่ยที่เริ่มพบ คือ 20-30 ปี อีกทั้ง พบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยฆ่าตัวตายสำเร็จ ทั้งนี้ จากรายงานจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการในสถานพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต ประจำปี 2556 จำนวน 1,109,183 ราย พบเป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคอารมณ์ผิดปกติ 156,663 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไบโพลาร์ 52,852 ราย หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยในกลุ่มโรคอารมณ์ผิดปกติ และเป็น 4.8% ของผู้ป่วยที่มารับบริการทั้งหมด
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวย้ำว่า ไบโพลาร์เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งต้องได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง รวมทั้ง ได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการรักษาหรือติดตามดูแลอย่างเหมาะสม สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ 80-90% กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีญาติเป็นโรคซึมเศร้าหรือเป็นโรคไบโพลาร์ มีวงจรการกิน การนอนที่ผิดปกติ มีเหตุการณ์พลิกผันของชีวิต ตลอดจนมีการใช้สารเสพติด การรักษาด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องสำคัญที่สุด การที่ญาติ คนใกล้ชิดและสังคมมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกับโรคและการรักษา จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิต ทำงานและเข้าสังคมได้เหมือนคนปกติทั่วไป ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผอ.รพ.ศรีธัญญา กล่าวว่า ล่าสุด ปี 2557 รพ.ศรีธัญญา มีผู้ป่วยนอกมารับบริการ จำนวน 116,227 ราย เป็นผู้ป่วยไบโพลาร์ 9,051 ราย คิดเป็น 7.8% นับเป็นอันดับ 3 รองจากโรคจิตเภทและโรคซึมเศร้า และมีผู้ป่วยในที่รับไว้รักษาทั้งหมด 6,035 ราย เป็นผู้ป่วยไบโพลาร์ 453 ราย นับเป็นอันดับ 2 รองจากโรคจิตเภท ผู้ป่วยไบโพลาร์จะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในลักษณะที่แตกต่างกันคนละขั้ว โดยมีความผิดปกติในระยะพลุ่งพล่านฟุ้งเฟ้อ (Mania) สลับกับระยะซึมเศร้า (Depression) โดยใน ระยะพลุ่งพล่านฟุ้งเฟ้อ อารมณ์จะเปลี่ยนแปลงง่าย มีความมั่นใจในตัวเองมาก รู้สึกว่าตัวเองเก่ง พูดมาก คล่องแคล่ว พูดเสียงดัง ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่หลับไม่นอน แต่งตัวมาก ใช้จ่ายเงินสิ้นเปลือง ไม่คิดถึงกฎเกณฑ์ของสังคม หากถูกห้ามปรามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการ จะหงุดหงิดฉุนเฉียว ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพบมีอาการหลงผิดแบบมีความสามารถพิเศษเหนือคนอื่นจนถึงมีภาวะหวาดระแวงได้ ส่วนในระยะซึมเศร้า จะรู้สึกหดหู่ เบื่อหน่าย จิตใจไม่สดชื่น อารมณ์อ่อนไหวง่าย ร้องไห้ง่าย ไม่อยากพบใครหรือไม่อยากทำอะไร เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นั่งเฉยๆ นานเป็นชั่วโมง ใจลอย หลงๆ ลืมๆ ไม่มั่นใจ ตัดสินใจไม่ได้ คิดว่า ตนเองเป็นภาระและหากมีอาการหนักจะถึงขั้นฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ อาการในระยะซึมเศร้าจะเกิดขึ้น อย่างช้าๆ โดยไม่มีสาเหตุ หรือบางทีอาจเกี่ยวข้องกันบ้างกับความเครียด เช่น สอบตก เปลี่ยนงาน ส่วนอาการในระยะพลุ่งพล่านฟุ้งเฟ้อ จะเป็นเร็วมาก และไม่คิดว่าตัวเองผิดปกติ อาการจะเต็มที่ภายใน 2-3 สัปดาห์ และอาจมีอารมณ์รุนแรงก้าวร้าวจนญาติรับมือไม่ไหว
นพ.สันติชัย ฉ่ำจิตรชื่น ประธานการจัดงานเนื่องในวันไบโพลาร์โลก รพ.ศรีธัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่าโรคนี้มีสาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกันหลายประการ สาเหตุที่สำคัญได้แก่ปัจจัยทางชีวภาพ คือ ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง นอกจากนี้ ปัจจัยทางจิตสังคมอาจเป็นปัจจัยเสริม เช่น ประสบวิกฤตการณ์หรือมีเหตุการณ์พลิกผันของชีวิต ปัจจัยระตุ้นอื่นๆ ได้แก่ การอดนอน การใช้สารเสพติด หรือยากระตุ้น เป้าหมายการรักษา คือ ส่งเสริมให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิต ทำงาน และเข้าสังคมได้เหมือนคนปกติทั่วไป การรักษาด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องสำคัญที่สุด ควรติดตามและต่อเนื่องการรักษาตามแพทย์นัด หากมีผลข้างเคียงจากยา ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรหยุดยาเอง ควรปรับวงจรการกินการนอนให้ปกติและสม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมคลายเครียด ไม่ใช้สารเสพติด เช่น สุรา ยากระตุ้น หรือกาแฟ หมั่นสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง เรียนรู้อาการเริ่มแรก และรีบพบแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก ในส่วนของญาติและคนใกล้ชิดควรร่วมเรียนรู้ เข้าอกเข้าใจ และให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยกินยา ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ สังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของผู้ป่วย รีบพาไปพบแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก
วันนี้ ได้มีการจัดนิทรรศการ “สุขสงบของสองขั้วโลก” เพื่อให้ความรู้เรื่องโรคไบโพลาร์ ตลอดจน ความคิด ความรู้สึกของญาติ/ผู้ดูแลในการช่วยเหลือผู้ป่วย ทัศนคติที่ดีของจิตอาสาต่อการช่วยเหลือผู้ป่วย มีการจัดบูตของ สหวิชาชีพ บูตของชมรมเพื่อนไบโพลาร์ ศูนย์สายใยครอบครัว บูตแสดงผลงานผู้ป่วย กิจกรรมสันทนาการ รวมทั้ง การเสวนาในหัวข้อ “สุขสงบของสองขั้วโลก” ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณไขศรี วิสุทธิพิเนตร เจ้าของนามปากกา “ดาวเดียวดาย” เจ้าของรางวัลสารคดียอดเยี่ยมรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี 2557 จากหนังสือ‘เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง’ คุณเกรียงไกรมาศ พจนสุนทร (ดีเจ เคนโต้) และผู้ดูแลผู้ป่วย ดำเนินการเสวนา โดย พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผอ.ศูนย์จิตรักษ์ รพ.กรุงเทพ และการแสดงดนตรีสด โดย ชมรมเพื่อนไบโพลาร์ นพ.สันติชัย กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit