“หน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน” มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง 40 ปีแห่งจิตอาสา ช่วยผู้ป่วยกว่าล้านราย

30 Mar 2015
40 ปีมาแล้วที่ “หน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน” ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ให้บริการตรวจรักษาแก่ผู้ป่วยผู้ยากไร้โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่เลือกเชื้อชาติศาสนา และไม่มีค่าใช้จ่าย นำมาซึ่งความอิ่มเอมใจของผู้ให้ซึ่งเป็นจิตอาสา และความซาบซึ้งใจของประชาชนผู้ยากไร้และผู้ป่วยในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลที่มารับบริการ
“หน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน” มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง 40 ปีแห่งจิตอาสา ช่วยผู้ป่วยกว่าล้านราย

หน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน” ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2519 ซึ่งนับจากวันที่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีการออกหน่วยไปแล้วกว่า 8,000 ครั้ง มีผู้ป่วยได้รับบริการการตรวจรักษามากกว่า 1 ล้านราย ในแต่ละปีมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในโครงการนี้เบื้องต้น 3 ล้านบาท สำหรับการออกหน่วยทั้งในชุมชนยากไร้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ทุรกันดารในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เดือนละไม่ต่ำกว่า 16 ครั้ง มีทั้ง ‘การออกหน่วยย่อย’ เพื่อให้บริการรักษาโรคทั่วไป และ “การออกหน่วยใหญ่” ซึ่งจะให้บริการครอบคลุมทั้งการตรวจรักษาโรคทั่วไป บริการทันตกรรม เช่น ตรวจรักษาฟัน ถอนฟัน เคลือบฟลูออไรด์ บริการเจาะเลือดเพื่อตรวจคัดกรองเบาหวาน บริการตรวจสายตาและแจกแว่นสายตาฟรี และยังรวมไปถึงบริการตัดผมโดยช่างมืออาชีพ และการจัดกิจกรรมสันทนาการเสริมสร้างจินตนาการให้แก่เด็กๆในชุมชน

ด้วยความทุ่มเทและเสียสละของบรรดาจิตอาสาซึ่งมีทั้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรจากโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ส่งผลให้ผู้ป่วยยากไร้และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ได้รับยาที่มีคุณภาพ เนื่องจากการให้บริการตรวจรักษาของหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชนนั้นมีขั้นตอนและมาตรฐานใกล้เคียงกับการให้บริการของโรงพยาบาลทั่วไป

บุคลากรของ “หน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน” ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มีทั้งเจ้าหน้าที่ประจำของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งจะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการและประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ที่จะไปออกหน่วย และอาสาสมัคร แพทย์-พยาบาล-เภสัชกร จากโรงพยาบาลต่างๆทั้งจากภาครัฐและเอกชน อาทิ โรงพยาบาลหัวเฉียว โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ฯลฯ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการตรวจรักษา โดยอาสาสมัครในส่วนนี้มีประมาณ 40 คน และจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาช่วยงานของหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน

การออกหน่วยแต่ละครั้งนั้นเจ้าหน้าที่และแพทย์อาสาต้องเผชิญกับความยากลำบากนานัปการ ตั้งแต่ทางขึ้นเขาที่คดเคี้ยวสูงชัน ไอร้อนของเปลวแดดที่แผดเผา และบ่อยครั้งที่ต้องแบกกล่องยาและอุปกรณ์เวชภัณฑ์เดินลุยฝุ่นฝ่าโคลนเข้าไปในหมู่บ้าน เดินฝ่าดงน้ำครำเข้าไปในซอยลึกของชุมชนแออัด เพราะพวกเขารู้ดีว่ามีผู้ป่วยที่ยากไร้รอคอยอยู่นับสิบนับร้อยชีวิต

นพ.สุวิชา บำรุงชีพ อดีตแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หนึ่งในแพทย์อาสาประจำ‘หน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน’ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานแพทย์อาสาด้วยแววตาที่อิ่มเอมว่า “ผมเป็นแพทย์อาสาของหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มาประมาณ 2 ปีแล้วครับ คือเราอยากใช้ความรู้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ด้อยโอกาสน่ะครับ ก็ไปทุกพื้นที่ เหนือ ใต้ อีสาน พื้นที่ตามตะเข็บชายแดน หมู่บ้านชาวเขา กะเหรี่ยงบนดอย บางทีออกหน่วยใหญ่เราต้องไปรถบัสเพราะบุคลากรเยอะ เครื่องไม้เครื่องมือเยอะ ทีนี้รถบัสไต่เขาขึ้นไปมันก็อันตรายครับ สูงชันและโค้งเยอะ ใจหายใจคว่ำ เสี่ยงพอสมควร รถดับบ้างอะไรบ้าง บ้างพื้นที่ก็ไม่มีไฟฟ้า หรือแม้แต่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เองเนี่ยเนื่องจากเราออกหน่วยในพื้นที่ชุมชนแออัด ทางแคบ รถเข้าไม่ได้ เราก็ต้องเดินแบกอุปกรณ์เข้าไป คือมันลำบากแต่อิ่มใจนะครับ เพราะผมมองว่ามันเป็นการตอบแทนสังคม เราได้มีโอกาสเรียนหมอ ได้ทำงานที่ดี เรามีแล้วเราก็แบ่งปัน”

ในส่วนของผู้รับบริการ นางมีสิริ จิตราศัย วัย 59 ปี หนึ่งในผู้ป่วยที่มารับการรักษาจากหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน พูดถึงการให้บริการของหน่วยแพทย์ฯด้วยความซาบซึ้งใจว่า “ ป้ากับสามีเป็นคนงานก่อสร้าง ก็ย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ ทีนี้ตอนป้าทำงานเกิดอุบัติเหตุ ลูกสะบ้าหัวเข่าแตก ขาเลยไม่ดี แล้วก็เป็นโรคความดัน โรคกระเพาะ ก็ไปหาหมอที่โรงพยาบาลเหมือนกัน แต่ไปบ่อยเราก็ไม่ไหว ไม่มีตังค์ แค่ค่ารถก็หลายร้อยแล้ว เพราะขาไม่ดีโหนรถเมล์ไม่ไหวก็ต้องไปแท็กซี่ พอมีหมอมารักษาถึงที่ป้าก็ดีใจ หมอก็ให้ยาแก้โรคกระเพาะมาขวดใหญ่เลย เราคนจนน่ะ มีคนมาช่วยเราก็ดีใจ”

“หน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน” ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จะออกหน่วยในกรุงเทพมหานครครั้งต่อไปในวันเสาร์ที่ 7 เมษายน 2558 ณ ชุมชนสวนสมเด็จย่า (ศาลเจ้าพ่อเสือ) คลองสาน จึงขอเชิญผู้ที่อยู่ในชุมชนแถบนี้รับบริการตรวจรักษาฟรีได้ในวันดังกล่าว