พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมสูงอายุ เนื่องจากสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าวเป็นกลุ่มวัยที่ทรงคุณค่าด้วยประสบการณ์ องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ ต่อคนรุ่นหลัง แต่กลุ่มผู้สูงอายุจะมีความเสื่อมของสภาพร่างกายตามวัยและโรคภัยที่มากขึ้น ซึ่งต้องการการส่งเสริมกิจกรรม อบรมให้ความรู้ เตรียมความพร้อมทั้งในด้านการเงิน การส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสภาพแวดล้อม จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) เพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายการดำเนินงาน จำนวน ๘๗๘ แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้สูงอายุและชุมชนได้มีศูนย์รวมในการจัดกิจกรรมและบริการแบบครบวงจรทั้งด้านสังคม สุขภาพ การถ่ายทอดภูมิปัญญา จิตอาสา การฝึกอาชีพและการสร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน สามารถตอบสนองปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุได้ครอบคลุมทุกมิติ ชุมชนมีศูนย์รวมของการบูรณาการการทำงานในระดับพื้นที่ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ชมรมผู้สูงอายุ ประชาชนที่เป็นผู้สูงอายุท้องถิ่น หน่วยงานภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชน อาสาสมัคร แกนนำ เครือข่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อการดูแลการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนของตนเองได้อย่างยั่งยืน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า การประชุมฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ จากชมรมผู้สูงอายุที่มีความเข้มแข็ง เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการศูนย์ให้มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมศักยภาพกลุ่มผู้นำองค์กร ชมรมผู้สูงอายุให้เข้มแข็ง ตามนโยบาย ของกระทรวงฯ ที่ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่กระทรวงฯขับเคลื่อนการดำเนินงานตั้งแต่การเตรียมความพร้อมประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ การเสริมพลังภูมิปัญญาผู้สูงอายุ การสร้างความสุขให้ผู้สูงอายุ การเสริมสร้างสังคมผู้สูงอายุไทยให้มีคุณภาพ และการขับเคลื่อนงาน ด้านผู้สูงอายุสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (สนง.พมจ.) ผู้แทนจากชมรมผู้สูงอายุ คณะกรรมการศูนย์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเครือข่ายการดำเนินงานในระดับพื้นที่ เป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์ และเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง รวมจำนวน ๑๕๐ คน
“ตนขอชื่นชมการทำงานของชมรมผู้สูงอายุ คณะกรรมการศูนย์ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น และเครือข่าย ที่ทำให้ การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุจากนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพื่อเป็นต้นแบบ ของการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ต่อไป”พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit