ม.หอการค้าไทย ร่วมกับ มูลนิธิสันติภาพนานาชาติ เชิญนักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบลมาปาฐกถาพิเศษ

01 Oct 2014
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ มูลนิธิสันติภาพนานาชาติ (International Peace Foundation) จัดการปาฐกถาพิเศษโดย ศาสตราจารย์ เซอร์ เจอมส์ เอ.เมอร์ลีส (Professor Sir James A. Mirrlees) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี ค.ศ. 1996 มาปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Conflict, cooperation and the common good” เผยถึงวิถีทางแก้ปัญหาความขัดแย้งและวิธีการกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกันเพื่อแก้ปัญหาที่สำคัญ
ม.หอการค้าไทย ร่วมกับ มูลนิธิสันติภาพนานาชาติ เชิญนักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบลมาปาฐกถาพิเศษ

ผศ.ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และผู้อำนวยการหลักสูตร TEPCoT กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ร่วมมือกับ มูลนิธิสันติภาพนานาชาติ จัดปาฐกถาพิเศษในประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง ในโครงการ UTCC Public Lecture Seres ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 7 ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯ มุ่งบริการวิชาการที่เป็นประโยชน์ แก่สังคม ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยฯ ในการเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ส่งเสริมสังคมอย่างแท้จริง

ส่วนปาฐกถาพิเศษในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดงานสานสัมพันธ์สู่สันติวัฒนธรรม ในภูมิภาคอาเซียนครั้งที่ 5 (5thASEAN Bridges Series) อย่างเป็นทางการ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อก่อให้เกิดการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างบุคลากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบุคลากรจากภูมิภาคอื่น ซึ่งเป็นผู้ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความเชื่อ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและไว้วางใจซึ่งกันและกันในอนาคต การดำเนินงานจัดงานได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีมาโดยตลอดจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน"

"ในการปาฐกถาพิเศษนี้ได้รับเกียรติจาก Prof. Sir James A. Mirrlees เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 1996 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Distinguished Professor-at-Large at The Chinese University of Hong Kong และเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับนั้น มาจากผลงานวิจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยแรงจูงใจภายใต้สภาวะข้อมูลที่ไม่สมมาตร โดยนำหลักทฤษฎีไปประยุกต์ใช้กับการออกแบบระบบภาษีที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งให้ความสำคัญทั้งประสิทธิภาพและความเสมอภาค และคำนึงถึงข้อจำกัดด้านข้อมูลส่วนบุคคลที่รัฐบาลสามารถหาได้"

เนื้อหาของการบรรยายจะเน้นไปที่วิถีทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง และวิธีการกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกันเพื่อแก้ปัญหาที่สำคัญ มีการเปรียบเทียบการจัดการที่พยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องกับการจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาต่อรอง รวมถึงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากของการบรรลุข้อตกลงทั้งสองแบบ ได้แก่ นโยบายเพื่อจำกัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการแก้ปัญหาการอ้างสิทธ์ในการถือครองดินแดน อะไรคือความยุ่งยากที่แท้จริงและเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร”

"สำหรับงาน “สานสัมพันธ์สู่สันติธรรม” ครั้งนี้ คาดว่า จะเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าฟังการบรรยายซึ่งจะเป็นการเปิดมุมมองและได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผศ.ดร. ธนวรรธน์ กล่าวสรุป