ประธานสภาเกษตรกรหวั่นเกษตรกรใช้พันธุ์พืชแพงต้องพึ่งพาบรรษัทข้ามชาติ ไบโอไทยเตือนกระทรวงเกษตรต้องฟังเสียงกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ผู้บริโภคและปัญหาการส่งออก ต้องไม่เร่งรีบรวบรัดให้มีการปลูกในไร่นา

01 Oct 2014
ตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พณ.ในฐานะประธานจัดทำยุทธศาสตร์เกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และ อ้อย ได้ให้สัมภาษณ์จะผลักดันให้มีการทดลองและปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย จนทำให้เกิดข้อท้วงติงจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับผลกระทบนั้น พล.อ.ฉัตรชัย

สาริกัลยะ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง "คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ใน ประเทศไทย" เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 เพื่อให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องจีเอ็มโอนั้น

วันนี้ (30 กันยายน 2557) คณะทำงานซึ่งมีองค์ประกอบจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนรวม 21 หน่วยงาน ได้ประชุมเป็นนัดแรก โดยมีนางจิราวรรณ แย้มประยูร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน อย่างไรก็ตามหลายหน่วยงานไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ เช่น คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผู้แทนสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เพราะกระทรวงเกษตรฯเพิ่งออกจดหมายเชิญประชุมแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเพียงวันเดียวก่อนการประชุม

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิถี (BIOTHAI) องค์กรพัฒนาเอกชนหนึ่งเดียวในคณะทำงานเปิดเผยว่า “ไม่สบายใจกับการประชุมครั้งนี้เพราะเห็นได้ชัดว่าประธานคณะทำงานพยายามจะรวบรัดให้มีการพิจารณาเกี่ยวกับการวางแนวทางการวิจัย เพื่อเตรียมการให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอในไร่นาตามข้อเสนอของบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติเป็นหลัก ทั้งๆที่ในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานชุดนี้ระบุอำนาจหน้าที่แรกคือ ให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ทางวิชาการ เศรษฐกิจ และสังคมเกี่ยวกับการนำพืชและผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอมาใช้ในประเทศไทยก่อนที่จะพิจารณาเรื่องเตรียมการทดลองพืชจีเอ็มโอในไร่นา อีกทั้งการตั้งคณะทำงานชุดนี้มีภาคเอกชนที่มีจุดยืนสนับสนุนเรื่องจีเอ็มโอถึง 5 องค์กร แต่กลับไม่มีตัวแทนจากภาคสังคมเช่น องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และภาคเอกชนที่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบของจีเอ็มโอ เช่น สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย เป็นต้น”

"ผมเป็นห่วงว่าการเดินหน้าจีเอ็มโอ จะสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดโลก เพราะขณะนี้ มะละกอจากประเทศไทยถูกตีกลับจากสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นจำนวนมาก ในขณะที่ผลการสำรวจของสหภาพยุโรปพบว่าประชาชนในยุโรป ทั้งฟากยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออกต่อต้านพืชจีเอ็มโอเพิ่มมากขึ้นทุกประเทศ โดยประเทศที่ต่อต้านน้อยที่สุดคืออังกฤษ 56% จนถึงต่อต้านมากที่สุด เช่น ฝรั่งเศส 84% กรีซและไซปรัส 90% และที่น่าเป็นห่วงสำหรับการส่งออกของประเทศไทยก็คือกระแสต่อต้านสินค้าจีเอ็มโอในสหรัฐที่เพิ่มมากขึ้น โดยผู้บริโภคอเมริกันมากกว่า 90% เรียกร้องให้ติดฉลาก และ 53% บอกว่าจะไม่กินอาหารจีเอ็มโอถ้าทราบว่าผลิตภัณฑ์ใดผ่านการดัดแปรพันธุกรรม” นายวิฑูรย์ กล่าว

ด้านนายประพัฒน์ ชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติในฐานะสมาชิกคณะทำงาน กล่าวว่า ตนเองเป็นห่วงปัญหาการผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยต่างชาติ “คณะทำงานนี้ต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า หนึ่ง เกษตรกรจะได้ประโยชน์หรือผลประโยชน์จะตกเป็นของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ เนื่องจากเมล็ดพันธุ์แพง สอง พืชที่จะนำมาทดลองเป็นเทคโนโลยีของไทยเองหรือต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีของต่างชาติ เพราะในท้ายที่สุดแล้วคณะรัฐมนตรีจะต้องอธิบายเหตุผลต่อประชาชนว่าทำไมจึงอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอ”หลังจากมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะเลขานุการคณะทำงานได้สรุปการประชุม โดยคาดว่าจะมีการจัดประชุมอีกประมาณ 3-4 ครั้งก่อนเสนอต่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์เกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า โดยการประชุมครั้งหน้าจะเปิดให้มีการนำเสนอผลการศึกษาทางวิชาการ เศรษฐกิจ และสังคมเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอมาพิจารณา พร้อมๆกับการการพิจารณาเกี่ยวกับการวางแนวทางการวิจัยและกฎเกณฑ์เพื่อเตรียมการให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอ ต่อไป ทั้งนี้มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนจากบริษัทมอนซานโต้ที่เข้าประชุมในนามสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยนำเสนอเหตุผลที่ไทยต้องปลูกพืชจีเอ็มโอนานเกือบ 1 ชั่วโมง สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยนั้นมีสมาชิกหลักคือ เครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทมอนซานโต้