แถลงการณ์ของกรีนพีซ

29 Sep 2014
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนพร้อมด้วยตัวแทนชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือถ่านหินกระบี่เดินทางมายังศาลปกครองเพื่อยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยเรียกร้องความเป็นธรรมตามสิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในการปกป้องกระบี่จากถ่านหิน

ในเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ว่าจ้างบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ให้ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ขณะเดียวกัน บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ยังได้ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (EHIA) โดยจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) (ค.1) ในเดือนมีนาคม 2557 ที่ผ่านมา

ในการยื่นฟ้องคดีปกครองครั้งนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนระบุว่า โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วนั้นได้ระบุเส้นทางเดินเรือขนส่งถ่านหินและเรือบรรทุกถ่านหินขนาด 3,000 เดทเวทตันในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมค.1 แต่ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงขนาดเรือบรรทุกถ่านหินเป็นขนาด 10,000 เดทเวทตันและบรรจุในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ได้นำออกเผยแพร่เพื่อดำเนินการจัดเวทีการประชุมครั้งที่ 3 (ค.3) ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2557 นี้ โดยมิได้มีการจัดประชุม ค. 1 ใหม่เพื่อแจ้งอย่างเป็นทางการให้กับชุมชนรับทราบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญอันยิ่งยวด ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "การใชสิทธิของประชาชนตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องความชอบธรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไร้ซึ่งธรรมาภิบาลในการดำเนินกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ มีการปกปิดข้อมูลความจริงตั้งแต่การจัดทำเวที ค.1 และต่อมากลับปรากฏเขียนในรายงานค.3 แตกต่างจากเดิมในสาระสำคัญที่มีในค.1 ทำให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถเสนอขอบเขตการศึกษาผลกระทบได้ครอบคลุมทั้งหมดตั้งแต่การจัดประชุมค.1 การตั้งกรอบและโจทย์การศึกษาผิดตั้งแต่ต้นย่อมทำให้คำตอบที่ได้ไม่อยู่บนฐานของความเป็นจริง การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ต่ำกว่าความเป็นจริงและขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯตั้งแต่การจัดทำค.1 เป็นเจตนาของกฟผ.ที่ละเมิดสิทธิของชาวบ้านอย่างร้ายแรง”หมายเหตุ

1. ประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 29 ธ.ค.2552 เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบ และแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพhttp://www.onep.go.th/eia/images/12ehia/3ehia_law.pdf

2. กำหนดการและเอกสารประกอบการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในขั้นตอนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ค.3) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วhttp://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=351&Itemid=218

3. รายงานสรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (public Scoping) (ค.1) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วhttp://www.egat.co.th/images/information/articles/egat-hearing57-krabi-port-meeting-report.pdf