“สำหรับปีนี้ ถือว่าเป็นครั้งที่ 14 แล้ว โดยได้รับการตอบรับจากเยาวชนส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก และผลงานที่ผ่านเข้ารอบรวมทั้งสิ้นจำนวน 25 ผลงาน โดยแบ่งเป็น สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 10 ผลงาน และสาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ จำนวน 15 ผลงาน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จตามคาดหวังไว้ และที่สำคัญเป็นการแสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของเยาวชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่มีต่อการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีของประเทศไทย ที่ยังต้องการการพัฒนาเรื่องนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าหากมีการตอบรับ และตื่นตัวจากเยาวชน การพัฒนาด้านนวัตกรรมของประเทศจะประสบความสำเร็จ และสัมฤทธิ์ผลได้ไม่ยาก” ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ กล่าว
ไปพูดคุยกับตัวแทนเยาวชนคนเก่งที่ผลงานเข้ารอบระดับประเทศ เริ่มที่ น้องเรย์ นางสาวบุณฑริกา อยู่ดี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง คณะเภสัชศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร กับผลงาน “ลิปกลอสจากสารสกัดส้มซ่า” ซึ่งประกวดในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับปริญญาตรี หรือ ปวส. กล่าวว่า “ที่มาของการคิดค้นโครงการนี้เกิดจากที่ในบริเวณท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ได้มีการสนับสนุนให้มีการปลูกส้มซ่า อีกทั้งยังมีสรรพคุณทางยาช่วยแก้อาการต่าง ๆ มากมาย และเมื่อได้มีการทดสอบยังพบว่า สารสกัดจากใบส้มซ่า มีความสามารถในการเป็นสารต้านออกซิเดชัน จึงได้นำสารสกัดจากส้มซ่ามาเป็นส่วนประกอบในลิปกลอส เพื่อช่วยบำรุงริมฝีปากอย่างล้ำลึก ให้ความชุ่มชื่นทำให้รอยดำและรอยเหี่ยวย่นบริเวณริมฝีปากแลดูจางลง นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมทรัพยากรท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่มีอัตลักษณ์ โดดเด่น มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพและมีความปลอดภัยอีกด้วยค่ะ” นางสาวบุณฑริกา กล่าว
ด้านสาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ปวช. นางสาวสุพิชชา อนันตณรงค์ หรือ น้องฟ้า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 4 ตัวแทนทีมจาก โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช กับผลงานที่มีชื่อว่า “Exercise and Relax” กล่าวว่า เครื่องออกกำลังกาย Exercise and Relax ประดิษฐ์ขึ้นโดยนำชิ้นส่วนจากวัสดุที่ชำรุด มาประกอบกัน โดยมีวัตถุประสงค์ให้สามารถใช้งานได้จริง อีกทั้งยังสามารถออกกำลังกายได้ 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ชุดออกกำลังกายกล้ามเนื้อขาเป็นชุดสปริงหดสำหรับเหยียบ ชุดออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังและคอเป็นชุดสปริงยืด และชุดออกกำลังกายกล้ามเนื้อแขนเป็นชุดยางยืดปิดท้ายกับ ผลงานที่มีชื่อว่า “Pull & Push” สาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ ระดับปริญญาตรี หรือ ปวส. โดย นายธนกร โพธิจินดา นักศึกษาชั้น ปวส. ปีที่ 2 สาขาช่างยนต์ ตัวแทนทีมจาก วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี กล่าวว่า เครื่องออกกำลังกายหรืออุปกรณ์กีฬาโดยทั่วไปในปัจจุบันนั้นใช้ฝึกหรือเล่นได้บางท่า ช่วยในบางส่วนของร่างกาย และบางแบบที่ใช้ฝึกกล้ามเนื้อมีปัญหาในประเด็นแรกคือจะมีแรงดีดกลับหรือการ ตีกลับถ้าผู้เล่นหรือผู้ฝึกปล่อยแรงกระทำกับอุปกรณ์ออกกำลังกายนั้นเพราะว่าใช้สปริงหรือตุ้มน้ำหนักถ่วงที่ต่อโยงจากสายเคเบิลนั้น ปัญหาในประเด็นที่สองคือ ต้องออกแรงดึงและผ่อนแรงดึงจึงทำให้ฝึกกล้ามเนื้อได้ในทิศทางเดียวเท่านั้น รวมทั้งแรงต้านทานของสปริงช่วงแรกจะอ่อนช่วงท้ายจะแข็งคือแรงต้านไม่คงที่
“เครื่องออกกำลังกาย Pull & Push ถือว่าเป็นนวัตกรรมกิจกรรมทางกายภาพและกีฬาเพื่อสุขภาพที่มีจุดเด่นในขณะฝึก เล่น หรือออกกำลังกายนั้นจะไม่มีแรงตีหรือดีดกลับ สามารถปรับแรงต้านได้คือเมื่อปล่อยมือหรือเท้า อุปกรณ์จะค้างอยู่ตำแหน่งที่ปล่อยแรง ใช้ออกกำลังกาย 2 ทิศทางคือ ดึงและดัน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่แตกต่างจากทั่วไปที่มีการใช้สปริง หรือสายเคเบิลคู่กับตุ้มน้ำหนักถ่วงครับ” นายธนกร กล่าว
ทั้งนี้ ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกผ่านเข้ารอบระดับประเทศ ในการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (นวท.) ครั้งที่ 14 จะประกาศผลรางวัลในงานวันนวัตกรรมแห่งชาติ วันที่ 5 ตุลาคม 2557 โดยรางวัลชนะเลิศระดับ ปริญญาตรีหรือ ปวส. แต่ละสาขา จะได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมทุนการศึกษา 50,000 บาท และได้ไปศึกษาดูงานต่างประเทศเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ส่วนรางวัลที่ 2 และ 3 จะได้รับ โล่เกียรติยศ ประกาศนียบัตร และทุนการศึกษา 30,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ สำหรับสาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกาย และกีฬาเพื่อสุขภาพ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. รางวัลชนะเลิศจะได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมทุนการศึกษา 20,000 บาทและได้ไปศึกษาดูงานต่างประเทศเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ส่วนรางวัลที่ 2 และ 3 จะได้รับ โล่เกียรติยศ ประกาศนียบัตร และทุนการศึกษา 15,000 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับ
เห็นผลงานจากความคิดของเด็กไทยกันแล้ว น่าชื่นใจว่าเยาวชนไทยก็มีแนวคิดและความสามารถไม่แพ้ชาติอื่นๆ ในโลก ซึ่งเราเชื่อว่าหากได้รับการพัฒนาผลงาน และมีการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างเต็มที่ ผลงานของเด็กไทยเราอาจไปผงาดในวงการนวัตกรรมโลกได้ไม่ยาก...