“ผี” คำที่หลายคนได้ยินแล้วมีอาการขนหัวลุก แต่ยังมีหลายๆชุมชน หลายๆชนเผ่าในประเทศไทยที่นับถือ “ผี” เพราะจริงๆแล้ว ผีก็เหมือนคน คือมีทั้งดีและไม่ดีปะปนกัน แต่ผีที่คนให้ความเคารพนับถือนั้นจัดเป็นผีดี เฉกเช่นคนดีก็ย่อมมีคนเคารพนับถือเช่นกัน
หมู่บ้านโคก หรือ “บ้านโคก”(หมู่ที่ 3) ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ชุมชนซึ่งไม่ไกลจากกรุงเทพฯ สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ “ลาวครั่ง” ถิ่นพำนักเดิมอยู่ทางฝั่งซ้ายของลุ่มแม่น้ำโขง แถบเทือกเขา เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว ชื่อเดิมคือลาวภูครั่ง และเพี้ยนเป็นลาวครั่งในปัจจุบัน ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อครั้งที่กองทัพไทยเคยยกทัพไปตั้งมั่นชั่วคราวเพื่อทำสงครามกับเวียดนามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กวาดต้อนชาวลาวเมืองภูครั่งเข้ามาและส่งไปยังเมืองสุพรรณบุรีและเมืองนครชัยศรี โดยในเอกสารสมัยนั้นเรียกว่า ลาวภูครั่ง และ ลาวครั่ง วิถีชีวิตของชาวลาวครั่งที่น่าสนใจคือ “ประเพณีไหว้ผีหอเจ้านาย” ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ
***บรรจุในปฏิทินท่องเที่ยว***
พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ได้อนุมัติให้สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง บรรจุงานประเพณี “ไหว้ผีหอเจ้านาย” ไว้ในปฏิทินการท่องเที่ยวของพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ประเพณีดังกล่าวจัดขึ้นในเดือน 7 หรือประมาณเดือนมิถุนายน ของทุกปี พร้อมสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวด้วยการขี่จักรยานโบราณที่บ้านโคกแห่งนี้ เพราะเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านโคกที่โดดเด่น
ในการมอบนโยบายการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าให้เมืองนี้เป็น ต้นแบบของ “การเรียนรู้ที่มีชีวิต” และเป็นวิถีชีวิตกินได้ ซึ่งหมายความว่า เป็นวิถีชีวิตของเมืองที่มีโบราณสถานโบราณวัตถุอายุกว่า 2,000 ปี และยังมีวัฒนธรรมความเชื่อที่ปฏิบัติสืบทอดมาถึงทุกวันนี้ และเมื่อได้รับกระบวนการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการจาก อพท. ทำให้ชุมชนมีความพร้อมที่จะเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้ได้เข้าไปสัมผัส ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่น่าดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากกว่าการเดินเที่ยวชมโบราณสถานซึ่งเป็นเพียงซากปรักหักพังเท่านั้น
ดังนั้น ประเพณีวัฒนธรรมของชนเผ่าลาวครั่งที่มีอัตลักษณ์ และยังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ตอกย้ำให้คนรุ่นหลังและคนต่างถิ่น ได้ใช้โอกาสนี้ เข้ามาศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตที่ยังมีให้เห็นอยู่ ส่วนการแต่งกายของชาวลาวครั่ง แม้อิทธิพลของแฟชั่นสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ก็ยังพอได้เห็นการนุ่งซิ่นย้อมครั่งหรือเสื้อย้อมคราม ซึ่งเป็นการแต่งกายของชาวลาวครั่งขนานแท้
****เริ่ม 2 เส้นทางปั่นจักรยานชมวิถีชีวิต****
นางศิริกุล กสิวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า ชาวบ้านโคกมีความเชื่อความศรัทธาทั้งในทางพระพุทธศาสนาและในเรื่องของอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือที่เรียกกันว่า “ผี” ในเดือน 7 ของทุกปีจึงมีประเพณี “ไหว้ผีหอเจ้านาย” ประเพณีที่แสดงถึงความรักและความสามัคคีของชาวลาวครั่งที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน เป็นประเพณีที่ทุกช่วงวัยได้มีส่วนร่วม ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน และครั้งนี้ถือเป็นปีแรก ที่ อพท. เข้าไปร่วมในการจัดงาน
นางอำพร ลีสุขสาม หรือผู้ใหญ่เงาะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า วิถีชีวิตของชาวลาวครั่งที่นี่คือทำนาทำสวนกันตามปรกติ ทุกบ้านมีจักรยานเพื่อใช้บรรทุกผลผลิตจากไร่สวน และต้องเป็นจักรยานโบราณ เพราะเป็นจักรยานที่มีขนาดใหญ่ มีที่นั่งและที่บรรทุกของตอนท้ายกว้าง สามารถขนผลิตผลทางการเกษตรเพื่อไปขายได้ครั้งละเป็น 100 กิโลกรัม
เมื่อ อพท. เข้ามาดูแลให้คำปรึกษา ทำให้ชุมชนเริ่มเห็นโอกาสในการพัฒนานำวิถีชีวิตมาปรับให้เป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยว พร้อมก่อตั้ง “ชมรมจักรยานโบราณบ้านโคก” เพื่อรวมกลุ่มคนในหมู่บ้านปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ และยังตกแต่งจักรยานไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาได้เช่า ในราคาคันละ 30 บาท ต่อวัน
“ตอนนี้ทางชุมชนได้ร่วมกับ อพท. โดยพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง พัฒนา 2 เส้นทางปั่นจักรยาน รวมระยะทางไม่ถึง 2 กิโลเมตร ได้แก่ เส้นทางชมธรรมชาติ ปั่นจักรยานชมสวนผักและทุ่งนา และ เส้นทางปั่นจักรยานชมวิถีชีวิตชุมชนลาวครั่ง 3 หมู่ ตลอดเส้นทางจะได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และได้เห็นบ้านเรือนที่ปลูกตามวัฒนธรรมของลาวครั่ง อย่างเช่น บ้านที่มีลูกสาว การปลูกบ้านจะต้องมีห้องสำหรับลูกสาว และห้ามผู้ชายขึ้นบ้าน ภาษาที่ใช้พูดกันในชุมชนก็ยังใช้ภาษาลาวครั่ง ซึ่งสำเนียงจะเร็วกว่าของคนจังหวัดเลย”
สำหรับประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณคือ “ไหว้ผีหอเจ้านาย” เพราะลาวครั่งเป็นชนเผ่าที่นับถือผี โดยผีที่ชาวบ้านโคกนับถือมี 2 แบบ คือ ผีเทวดาและผีเจ้านาย ซึ่งผีเทวดาในที่นี้คือ รุกขเทวดา ที่เคยคุ้มครองบ้านเมืองตั้งแต่สมัยอยู่หลวงพระบาง ส่วนผีเจ้านาย คือผีบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็น “ผีดี” ที่คอยช่วยปกปักรักษาหมู่บ้านและชาวบ้าน โดยผีเจ้านายมีที่สถิตอยู่ที่ “หอเจ้านาย” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำหมู่บ้าน เปรียบเสมือนหลักเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านโคก เมื่อถึงฤดูทำไร่ทำนา ชาวบ้านจะมาขอผีเจ้านายให้ทำการเพาะปลูกได้ดี ลูกหลานใครเจ็บไข้ พ่อแม่ก็จะมาบนบานขอให้ผีเจ้านายช่วยรักษา
“หอเจ้านายเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว กำกับจิตใจและการกระทำของคนในหมู่บ้าน ให้ทำแต่ความดี ใครทำไม่ดี ผิดจารีต ผิดวิถี หรือเรียกกันว่า “ผิดผี” จะต้องมาสารภาพต่อหน้าเจ้าพ่อพร้อมแก้บนขอขมา”
วันนี้บ้านโคกเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและนักทัศนาจร มีแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมมากขึ้น บางวันก็มีหน่วยงานหรือองค์กรเข้ามาเที่ยวศึกษาดูวิถีชีวิตของพวกเราชนเผ่า “ลาวครั่ง” ชาวบ้านทุกคนที่นี่ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน สามารถสอบถามข้อมูลและการเดินทางได้โดยตรงที่ผู้ใหญ่เงาะ โทร. 08 4457 7271
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit