แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (29 ก.ย. – 3 ต.ค. 57)
ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเดิม โดยได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ที่อาจบานปลายและส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบ หลังกลุ่ม IS ยังคงเดินหน้าบุกเข้าโจมตีซีเรียและอิรักอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ ทิศทางการเพิ่มมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนจากทางธนาคารกลางสหภาพยุโรป (อีซีบี) อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังเฝ้าจับตาสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียอย่างใกล้ชิด แม้ทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในยูเครนตะวันออกเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แต่การประกาศมาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซียครั้งใหม่ของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ นั้น ทำให้ตลาดมีความกังวลว่าอุปสงค์น้ำมันดิบจะอ่อนตัวลง รวมถึงอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดยังคงกดดันราคาอยู่อย่างต่อเนื่อง ภายหลังลิเบียสามารถกลับมาผลิตน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังกลุ่ม IS ยังคงเดินหน้าบุกเข้าโจมตีซีเรียและอิรักอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอาหรับ 5 ประเทศ (ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน บาห์เรน และกาตาร์) ได้ร่วมโจมตีทางอากาศในซีเรียเป็นครั้งแรกต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ตลาดมีความกังวลว่าสถานการณ์อาจบานปลายและส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบได้
จับตาการประชุมอีซีบีในวันที่ 2 ต.ค. นี้ ซึ่งตลาดคาดว่าอีซีบีจะออกมาตรการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปมากยิ่งขึ้น แม้การประชุมในเดือนกันยายนที่ผ่านมา อีซีบีจะประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 0.05% รวมถึงลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสู่ระดับ -0.20% และมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านการซื้อสินทรัพย์แล้วก็ตาม แต่ข้อมูลเศรษฐกิจยังคงออกมาอ่อนแออย่างต่อเนื่อง
จับตาท่าทีการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC เพื่อจัดการกับอุปทานน้ำมันดิบที่มีอยู่จำนวนมากในตลาด ว่าจะออกมาทิศทางใด หลังมีกระแสข่าวออกมาว่า OPEC อาจมีแผนปรับลดกำลังการผลิตลง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 29.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2558 โดยการหารืออาจเกิดขึ้นในการประชุมกลุ่มวันที่ 27 พ.ย. นี้ โดยล่าสุดลิเบียสามารถกลับมาผลิตน้ำมันดิบได้ถึง 900,000 บาร์เรลต่อวัน ภายหลังแหล่ง El Sharara กลับมาดำเนินการได้ตามปกติหลังได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในประเทศ
หลายฝ่ายยังเฝ้าจับตาสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียอย่างใกล้ชิด แม้ทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในยูเครนตะวันออกเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แต่การประกาศมาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซียครั้งใหม่ของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ นั้น ทำให้มีความกังวลว่าอุปสงค์น้ำมันดิบจะอ่อนตัวลง
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต-การบริการ รายได้ส่วนบุคคล ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การจ้างงานภาคเอกชน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ของอีซีบีและอัตราการว่างงานยุโรป รวมถึงดัชนีภาคการผลิตจีน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 – 26 ก.ย. 57)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 93.54 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลง 1.39 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 97.00 เหรียญสหรัฐฯ และราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงมาเฉลี่ยที่ระดับ 94 เหรียญสหรัฐฯราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยได้รับแรงหนุนจากตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 2/57 และความรู้สึกผู้บริโภคสหรัฐฯ รวมถึงปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงสวนทางกับการคาดการณ์ ประกอบกับความกังวลต่อเหตุการณ์รุนแรงในอิรักและซีเรีย หลังสหรัฐฯ ตัดสินใจโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ต่อกลุ่ม IS ในซีเรีย อีกทั้งยังมีรายงานว่า OPEC อาจพิจารณาลดกำลังการผลิตลงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มมากขึ้นจากทางอิรัก ไนจีเรีย และลิเบีย ที่ล่าสุดเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบขึ้นมาอยู่ที่ 925,000 บาร์เรลต่อวัน รวมถึงเศรษฐกิจยุโรปและจีนที่ยังคงซบเซา ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังคงปรับลดลง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit