ไอบีเอ็มประกาศก้าวย่างสำคัญในการนำวัตสัน (Watson) และเทคโนโลยีค็อกนิทิฟ คอมพิวติ้ง (cognitive computing) ที่ขับเคลื่อนบน
คลาวด์ เข้าต่อยอดธุรกิจระดับโลก วัตสันเป็นแพลตฟอร์มที่แสดงถึงเทคโนยีคอมพิวติ้งยุคใหม่อย่างแท้จริง ก้าวล้ำด้วยความสามารถในการปฏิสัมพันธ์เป็นภาษามนุษย์ การประมวลผลข้อมูลบิ๊กดาต้าจำนวนมหาศาลเพื่อแสวงหารูปแบบเฉพาะและมุมมองเชิงลึก รวมถึงความสามารถในการเรียนรู้ได้จากการปฏิสัมพันธ์แต่ละครั้ง
ไอบีเอ็มได้พัฒนาเทคโนโลยีวัตสันมาอย่างต่อเนื่องในทั่วทุกมุมโลก และได้เปิดเผยถึง
- ความร่วมมือในการนำวัตสันไปใช้ใน 6 ทวีป ครอบคลุมกว่า 25 ประเทศ อาทิ แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ไทย แคนาดา และสหรัฐอเมริกา
- การเรียนรู้ภาษาสเปนของวัตสัน ที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือล่าสุดกับไกเชอแบงค์ แห่งประเทศสเปน
- กลุ่มพันธมิตรที่เริ่มใช้วัตสันเป็นกลุ่มแรก ได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่นสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งท่องเที่ยว ค้าปลีก บริการด้านไอที และการดูแลสุขภาพ โดยแอพเหล่านี้ได้รับการพัฒนาขึ้นบนเทคโนโลยีวัตสัน
- การเปิดสำนักงานใหญ่ระดับโลกของวัตสันที่ซิลิคอนอัลเล่ย์ ในนครนิวยอร์ค พร้อมด้วย Watson Client Experience Center 5 แห่งทั่วโลก
“วัตสันกำลังนำเราเข้าสู่เทคโนโลยีประมวลผลยุคใหม่ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรทั่วโลกสามารถนำเสนอธุรกิจใหม่ๆ กำหนดนิยามใหม่ของตลาด พร้อมทั้งพลิกโฉมอุตสาหกรรมต่างๆ” ไมค์ โรห์ดิน รองประธานอาวุโส ไอบีเอ็ม วัตสัน กรุ๊ป กล่าว "วัตสันกำลังผลักดันให้เกิดตลาดและระบบนิเวศน์ใหม่ๆ ของลูกค้า พันธมิตร นักพัฒนา ผู้ร่วมทุนทางธุรกิจ มหาวิทยาลัย และนักศึกษา นวัตกรรมก้าวล้ำลำดับต่อไปที่กำลังจะเกิดขึ้น จะมาจากกลุ่มคนที่สามารถร่วมมือและเชื่อมต่อกันในแบบที่ผู้อื่นคาดไม่ถึง และวัตสันกำลังทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นไปได้จริง”ปัจจุบันลูกค้าหันมาเลือกใช้เทคโนโลยีค็อกนิทิฟเพื่อยกระดับรูปแบบการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า โดยตั้งแต่มีการก่อตั้งไอบีเอ็ม วัตสัน กรุ๊ป (IBM Watson Group) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ลูกค้าใหม่ๆ จากทั่วโลกได้เริ่มใช้วัตสันอย่างต่อเนื่อง
- ANZ โกลบอลเวลท์ (ออสเตรเลีย) -- ทาง ANZ กำลังจะเปิดตัววัตสัน เอ็นเกจเมนท์ แอดไวเซอร์ (Watson Engagement Advisor Tool) ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าที่ศูนย์ให้คำปรึกษาของธนาคารในนครซิดนีย์ พร้อมแนะนำเครื่องมือนี้ต่อไปยังนักวางแผนทางด้านการเงินกว่า 400 คน การเปิดใช้เครื่องมือวัตสันจะช่วยให้ธนาคารสามารถจับสังเกตรูปแบบของคำถามจากทั้งลูกค้าและที่ปรึกษาด้านการเงิน เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดความสามารถและมุมมองเชิงลึกของวัตสันอย่างต่อเนื่องต่อไป โดย ANZ ตั้งเป้าให้วัตสันเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพของทีมให้คำปรึกษาด้านการเงินเพื่อปรับปรุงกระบวนการให้คำปรึกษาให้สั้นขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่นเวลาการขอหนังสือคำแนะนำด้านการเงินเหลือเพียงหนึ่งสัปดาห์ จากที่ต้องใช้ระยะเวลาหลายสัปดาห์ในปัจจุบัน โดยในเบื้องต้นได้เริ่มมีการนำวัตสันเข้ามาใช้ในงานด้านประกันภัยและการป้องกัน และจะเริ่มขยายไปสู่งานด้านการบริหารความมั่งคั่งของสินทรัพย์ อันรวมถึงเรื่องเงินพิเศษที่จ่ายให้กองทุนต่างๆ และเรื่องการลงทุนต่างๆ
- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (ไทย) – โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์วางแผนที่จะนำวัตสันมาช่วยเสริมคุณภาพการรักษามะเร็งที่ศูนย์รักษาโรคในกรุงเทพฯ พร้อมช่วยประเมินอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยในสำนักงานตัวแทนใน 16 ประเทศ ที่ตั้งอยู่ใน 4 ทวีป โดยภายใต้ข้อตกลงระยะเวลา 5 ปีนี้ โรงพยาบาลจะใช้ไอบีเอ็มวัตสันสำหรับการรักษามะเร็ง (IBM Watson for Oncology) ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยศูนย์การรักษามะเร็งระดับโลกอย่างเมโมเรียล สโลน เคทเทอริ่ง (Memorial Sloan Kettering: MSK) ระบบที่ก้าวล้ำนี้จะช่วยให้แพทย์ของบำรุงราษฎร์สามารถวางแผนการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุด โดยอ้างอิงจากข้อมูลประวัติผู้ป่วย หลักฐานทางการแพทย์ งานวิจัยที่ตีพิมพ์แล้ว และความชำนาญในการรักษาขั้นสูงจาก MSK วัตสันจะวิเคราะห์ข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาลเหล่านี้และเสนอข้อสรุปเป็นแนวทางต่างๆ อย่างสอดคล้องกับผู้ป่วยแต่ละกรณี ซึ่งรวมไปถึงทางเลือกในการรักษาที่อ้างอิงตามหลักของเครือข่ายมะเร็งครบวงจรแห่งชาติ (National Comprehensive Cancer Network: NCCN)
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ โดยเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในจุดหมายด้านการรักษาทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยผู้ใช้บริการเกือบครึ่งจากทั้งหมด 1.1 ล้านรายต่อปี มาจาก 190 ประเทศทั่วโลก
- ไกเชอแบงค์ (สเปน) – ไกเชอแบงค์และไอบีเอ็มกำลังร่วมกันพัฒนาระบบค็อกนิทิฟที่สร้างบนเทคโนโลยีวัตสันให้สามารถเข้าใจภาษาสเปนได้ ไกเชอแบงค์เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจการธนาคาร โดยเป็นธนาคารแห่งแรกของโลกที่ติดตั้งเครื่องพีซีของไอบีเอ็มที่สำนักงานสาขา สร้างสรรค์บริการบัตรเอทีเอ็มไร้สัมผัสที่สามารถส่งข้อมูลระยะใกล้ได้ ทั้งยังเป็นธนาคารแห่งแรกที่สร้างแอพสโตร์สำหรับแอพพลิเคชั่นด้านการเงินขึ้น การประกาศความร่วมมือครั้งนี้ยังเป็นอีกก้าวย่างสำคัญของไกเชอแบงค์ ในฐานะองค์กรแห่งแรกของโลกที่ทำงานร่วมกับไอบีเอ็มในการสอนภาษาสเปนให้แก่วัตสัน
- มหาวิทยาลัยเดียคิน (ออสเตรเลีย) – มหาวิทยาลัยเดียคินเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกที่นำความสามารถของวัตสันเข้าไปพัฒนาการให้คำปรึกษาออนไลน์แก่นักศึกษา แอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะช่วยให้นักศึกษาจำนวน 50,000 คน รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าถึงบริการออนไลน์ได้แบบ 24x7 ผ่านหน้าเว็บไซต์และอุปกรณ์สื่อสารพกพา เพื่อสอบถามทุกข้อสงสัยนับตั้งแต่คำถามที่ง่ายที่สุดไปจนถึงคำถามที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละบุคคล ข้อมูลหลายพันหน้าของมหาวิทยาลัย นับตั้งแต่เอกสาร พรีเซนเทชั่น โบรชัวร์ ไปจนถึงข้อมูลออนไลน์ จะถูกบรรจุลงไปในวัตสัน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้งานจะได้รับคำตอบที่มีคุณภาพและมาตรฐานในทุกครั้ง โดยที่ผ่านมาคำถามต่างๆ มักครอบคลุมหลากหลายหัวข้อ ตัวอย่างเช่น “ฉันต้องใช้อะไรบ้างในการลงทะเบียน?” “มีกิจกรรมทางสังคมอะไรบ้างที่เดียคิน?” “อาคารชีววิทยาอยู่ที่ไหน?” “คุณสมบัติของคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นต้องมีสำหรับคอร์สเรียนนี้คืออะไรบ้าง?” ทั้งนี้ นักศึกษาที่ถามคำถามวัตสันจะได้รับข้อมูลและคำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงตามข้อมูลประวัติของแต่ละคน
- เมโทรโพลิแทนเฮลท์ (แอฟริกาใต้) – เมโทรโพลิแทนเฮลท์วางแผนที่จะนำวัตสันเข้ามาช่วยในการพลิกรูปแบบบริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์สำหรับลูกค้า 3 ล้านราย โดยถือเป็นการนำวัตสันไปใช้เชิงพาณิชย์เป็นแห่งแรกของทวีปแอฟริกา ทั้งนี้ เมโทรโพลิแทนเฮลท์คาดหวังที่จะสามารถส่งมอบบริการด้านสุขภาพที่เจาะจงสำหรับแต่ละบุคคลและมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์เป็นหลักแก่ประชาชนทั่วทั้งแอฟริกาใต้ โดยเทคโนโลยีค็อกนิทิฟของวัตสัน เอ็นเกจเมนท์ แอดไวเซอร์ (Watson Engagement Advisor) จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้าสามารถวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลที่มีความซับซ้อนและจัดเก็บในรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างข้อมูลผลิตภัณฑ์และประวัติสมาชิกได้ ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถตีความความเชื่อมโยงระหว่างความต้องการของลูกค้าและองค์ความรู้ด้านสุขภาพและไลฟ์สไตล์ที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยวัตสันจะช่วยเจ้าหน้าที่ชั่งน้ำหนักทางเลือกต่างๆ ที่เป็นไปได้สำหรับสมาชิก ทำให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและให้ผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีกว่า
ในโอกาสเดียวกันนี้ ระบบนิเวศน์ทางพันธมิตรของไอบีเอ็ม (IBM Ecosystem Partners) ยังได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่นที่ได้รับการพัฒนาขึ้นบนเทคโนโลยีวัตสัน ที่มุ่งพลิกโฉมแนวทางการปฏิสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจและผู้บริโภค จากเดิมที่เป็นไปในลักษณะการบริหารสุขภาพและเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า เป็นการต่อยอดไปสู่การวิจัยและการเรียนรู้ใหม่ๆ
- นายเทอร์รี่ โจนส์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งทราเวโลซิตี้และ Kayak.com กำลังจะเปิดตัวเวย์เบลเซอร์ (WayBlazer) บริษัทท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่จะใช้เทคโนโลยีวัตสันในการบริการ เรียนรู้ และแนะนำผู้ใช้ผ่านภาษามนุษย์และภาษาภาพ เพื่อสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ดีที่สุด โดยปัจจุบันสำนักงานการสัมมนาและผู้มาเยือนแห่งออสติน (Austin Convention & Visitors Bureau) ได้เริ่มใช้เวอร์ชั่นต้นแบบของแอพเวลล์เบลเซอร์เพื่อจองงานสัมมนา เพิ่มอัตราการจองโรงแรมต่างๆ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากพันธมิตรและโอกาสทางการตลาดที่เกี่ยวข้องแล้ว
- เรดแอนท์ (สหราชอาณาจักร) นำเสนอโมบายล์แอพสำหรับฝึกสอนพนักงานขาย เพื่อเป็นตัวช่วยให้พนักงานในร้านสามารถเข้าใจความชอบของลูกค้าแต่ละรายได้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ประวัติการซื้อ และสินค้าที่หมายตาไว้ รวมไปถึงการวิเคราะห์ข้อมูลผลิตภัณฑ์ ราคาขาย รีวิวของลูกค้า และคุณสมบัติทางด้านเทคโนโลยี โดยเป็นการป้อนเสียงหรือข้อความเพื่อแลกเปลี่ยนถามตอบที่อาศัยข้อมูลจำนวนมหาศาลของอุตสาหกรรมค้าปลีก อันได้แก่ข้อมูลผลิตภัณฑ์ คู่มือ รีวิวของลูกค้า และอื่นๆ
- รีเฟลกซิส (แมสซาชูเซตส์) นำมุมมองเชิงลึกจากวัตสันไปใช้เพื่อแจ้งเตือนผู้จัดการในสำนักงาน หน่วยงานภูมิภาค และร้านค้า ถึงงานและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดโดยเรียงตามลำดับความสำคัญ โดยอ้างอิงจากข้อมูลกิจกรรม ข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า
- เซลพอยท์ส (แคลิฟอร์เนีย) สามารถเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคำถามของผู้บริโภคและตัวผลิตภัณฑ์ได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ซื้อค้นหาผลิตภัณฑ์โดยใช้ภาษาพูด สัมผัส สัญลักษณ์ หรือเขียน แอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่าแนเชอรัล ซีเล็คชั่น (Natural Selection) ของเซลพอยท์สจะแสดงผลการค้นหาตามลำดับที่สัมพันธ์กับลูกค้าคนนั้นๆ มากที่สุดทันที
- ไลฟ์เลิร์น (แคนาดา) ช่วยให้สัตวแพทย์สามารถค้นหาแนวทางการรักษาสัตว์ที่ดีกว่าได้ผ่านทางโมบายล์แอพ โดยแอพนี้จะคราวด์ซอร์สข้อมูลด้วยคำถามคำตอบแบบง่ายๆ เพื่อกลั่นกรองออกมาเป็นทางเลือกในการรักษาที่ดีกว่า
- จีนี่เอ็มดี (แคลิฟอร์เนีย) เป็นโมบายล์แพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถถามคำถามเกี่ยวกับสุขภาพและยาที่ใช้รักษาได้ ด้วยภาษาธรรมชาติในรูปแบบการสนทนา โดยวัตสันจะสามารถเข้าใจและเรียนรู้คำถามคำตอบเหล่านี้ได้ พร้อมสามารถนำเสนอแหล่งข้อมูลสุขภาพที่เหมาะสำหรับคนไข้ได้ต่อไป
- เวลล์ท็อค (โคโลราโด) พัฒนาแอพคาเฟเวลล์ คอนเซียร์จ (CaféWell Concierge) ที่ทำหน้าที่ประมวลข้อมูลสุขภาพจำนวนมหาศาลและรูปแบบเนื้อหาที่ควรใช้สำหรับการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้บริโภค เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพแบบเฉพาะบุคคลแก่ผู้ใช้งาน
- @พอยท์ออฟแคร์ (นิวเจอร์ซีย์) เป็นโมบายล์แอพที่นำเทคโนโลยีค็อกนิทิฟคอมพิวติ้งของวัตสันมาช่วยให้สามารถเข้าใจคำถามที่เป็นภาษามนุษย์ได้สำเร็จ พร้อมทั้งสามารถแสดงข้อมูลการรักษาที่เชื่อมโยงจากห้องสมุดต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีความถูกต้องสูง
- สปาร์คค็อกนิชั่น (เท็กซัส) เป็นองค์กรด้านการรักษาความปลอดภัยที่นำวัตสันเข้าไปช่วยสร้างมุมมองและรูปแบบการคิดแบบผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยให้กับหน่วยงานภายในองค์กร การค้นหาข้อมูลจากแหล่งบิ๊กดาต้าภายในองค์กรช่วยห้องค์กรสามารถค้นพบเหตุร้ายที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้
- ชิพส์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (นิวยอร์ค) นำเทคโนโลยีวัตสันไปใช้ในการประมวลผลข้อมูลที่กระจัดกระจายจากแหล่งข้อมูลไอทีที่หลากหลาย อาทิ บทความ ไวท์เปเปอร์ และคู่มือต่างๆ เพื่อกลั่นกรองเป็นมุมมองเชิงลึกและส่งมอบบริการเสริมด้านเทคโนโลยีที่ถูกต้องแก่ผู้ใช้งานได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ติดต่อเข้ามา
ในโอกาสนี้ ไอบีเอ็มยังได้ประกาศเปิดสำนักงานใหญ่ของวัตสันกรุ๊ปอย่างเป็นทางการ ที่เลขที่ 51 แอสเตอร์เพลส ซิลิคอนอัลเล่ย์ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนอกจากพนักงานไอบีเอ็มวัตสันจำนวน 600 คนจากทั้งหมด 2,000 คนทั่วโลกจะประจำที่สำนักงานแห่งนี้แล้ว ยังจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นและผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ที่สำนักงานแห่งนี้อีกด้วย วัตสันกรุ๊ปจะให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี เครื่องมือ และผู้เชี่ยวชาญแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ เพื่อการสร้างสรรค์พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยีวัตสันที่ทำงานบนคลาวด์ นอกจากนี้ ไอบีเอ็มยังประกาศเปิด Watson Client Experience Center อีก 5 แห่งที่ดับลิน ลอนดอน เมลเบิร์น เซาเปาโล และสิงคโปร์ เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสกับเทคโนโลยีวัตสันและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้
ไอบีเอ็มวัตสันรองรับเทคโนโลยีประมวลผลยุคใหม่ (new era of computing) โดยแอพพลิเคชั่นและระบบต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นบนเทคโนโลยีวัตสันจะสามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น ทั้งยังมีการยกระดับองค์ความรู้โดยอาศัยข้อมูลเชิงลึกที่กลั่นกรองจากข้อมูลจำนวนมหาศาลหรือบิ๊กดาต้า (Big Data) เสริมพร้อมด้วยความสามารถในการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงการทำงานให้ตอบสนองและช่วยเหลือผู้ใช้ได้ดียิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายบนแพลตฟอร์มคลาวด์ให้แก่ลูกค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ธนาคาร การแพทย์ ประกันภัย ค้าปลีก และการศึกษา
เมื่อเดือนมกราคม 2557 ไอบีเอ็มได้เปิดตัวกลุ่มธุรกิจใหม่ในชื่อไอบีเอ็ม วัตสัน กรุ๊ป (IBM Watson Group) พร้อมลงทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์เพื่อมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาแอพพลิเคชั่นและบริการค็อกนิทิฟที่ทำงานบนคลาวด์ออกสู่ตลาด รวมไปถึงการลงทุน 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนระบบนิเวศน์ของไอบีเอ็ม อันประกอบด้วยสตาร์ทอัพและองค์กรธุรกิจต่างๆ ในการสร้างแอพพลิเคชั่นขึ้นบนเทคโนโลยีวัตสัน
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ibmwatson.com และ www.facebook.com/IBMThailand