ด้วยไลฟ์สไตล์ และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพราะมีการแข่งขันสูง หลายคนทำงานหนักเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ไหนจะเข้าออฟฟิศ ไหนจะออกไซต์งาน ไหนจะต้องเผชิญกับภาวะรถติด ใช้เวลาบนท้องถนนนานเป็นพิเศษ ตามวิถีของคนเมือง บ้างไม่มีเวลาที่จะเข้าห้องน้ำ หรือต้องอั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน อาจประสบปัญหาเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินปัสสาวะ มีอาการปัสสาวะเล็ด หรือการที่มีปัสสาวะรั่วไหลโดยไม่ได้ตั้งใจ
ผศ.นพ.วิทย์ วิเศษสินธุ์ หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาการกลั้นปัสสวะไม่อยู่ พบในผู้หญิงวัยทำงานเพิ่มมากขึ้น สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะที่มีส่วนในการควบคุมการปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ระบบหูรูด กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน ระบบประสาทที่ควบคุมการกลั้นและขับปัสสาวะ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง เช่น การดื่มน้ำน้อย กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานทำให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการบีบตัวผิดปกติ จนกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นอกจากนั้นคนที่เคยผ่าตัดมดลูกมาก่อนอาจมีการเสื่อมของหูรูดและการหย่อนยานของผนังช่องคลอดรวมทั้งบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะ ทำให้บริเวณคอกระเพาะปัสสาวะปิดไม่สนิทจึงเกิดอาการปัสสาวะรั่วออกมา และในวัยสูงอายุและประจำเดือนหมดแล้วฮอร์โมนเพศหญิงจะลดลง ทำให้เยื่อบุในท่อปัสสาวะขาดความยืดหยุ่นระบบการปิดกั้นของท่อปัสสาวะลดลง ทำให้ปัสสาวะรั่วซึมได้เช่นกัน
อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ปัญหาของโรคนี้คือ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าตนเองเป็น เพราะมักจะเข้าใจผิดไปเองว่า อาการปัสสาวะบ่อยนั้นเกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น จึงไม่ไปตรวจที่โรงพยาบาล ทำให้อาการเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้เป็นปัญหาในการเข้าสังคม หรือเป็นปัญหาทางสุขภาพและอนามัย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นช้ำรั่วหรือไม่วิธีสังเกตุอาการที่เสี่ยงต่อภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
1. อาการปวดราด คือปวดปัสสาวะรุนแรงจนเล็ดราดออกมา ไม่สามารถรอไปเข้าห้องน้ำได้ทัน
2. ปัสสาวะเล็ดจากการไอ จาม หรือหัวเราะอาการลักษณะนี้มักพบในผู้หญิงที่เริ่มมีอายุมากขึ้น น้ำหนักตัวมาก เคยมีประวัติคลอดบุตรหลายคนไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีธรรมชาติ หรือผ่าตัด เคยมีการผ่าตัดบริเวณรอบท่อปัสสาวะ หรือเคยรับการฉายรังสีรักษาบริเวณนั้นมาก่อน
3. ปัสสาวะราด คือเมื่อปวด ปัสสาวะก็ไหลออกมาเลย โดยไม่สามารถกลั้นได้
โรคช้ำรั่ว ไม่ใช่โรคร้ายที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญ มีผลต่อสุขภาพจิต และการดำเนินชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความมั่นใจที่จะเข้าสังคม ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงได้
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือน่าอับอาย เพราะโรคนี้สามารถรักษาให้หาย หรือทำให้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ซึ่งการรักษามีหลายวิธี ทั้งการกินยารักษา การใช้ฮอร์โมนทดแทน การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยการขมิบช่องคลอด หรือแม้แต่การผ่าตัด อย่างไรก็ตาม นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมด้วย เช่น การลดน้ำหนัก อย่าให้ท้องผูก งดสูบบุหรี่ งดดื่มกาแฟ โซดา น้ำอัดลม เนื่องจากมีสารกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายบ่อยนอกจากนี้การสวมใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับผู้ใหญ่ก็จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาหลายประเภทเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นแบบกางเกงซึมซับ กางเกงอนามัย หรือ แบบเทป เพื่อช่วยจัดการปัญหาอย่างถูกหลักอนามัย ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถโทรศัพท์ปรึกษาเบื้องต้นได้ที่ โทร.02-651 9500 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-17.30 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit