วันสุขภาพจิตโลก “เมื่อต้องอยู่กับ..โรคจิตเภท”

09 Oct 2014
สหพันธ์สุขภาพจิตโลกได้กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก ซึ่งในปีนี้ได้ให้ความสำคัญกับการอยู่กับโรคจิตเภท หรือ Living with Schizophrenia เนื่องจากทั่วโลกมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ถึง 26 ล้านคน มีเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจิตเภทที่เข้าถึงบริการบำบัดรักษาได้ ส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถเข้าถึงการบำบัดรักษา ซึ่งมีผลต่อการทำงานของสมองและการหายขาดของโรค ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้หากได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่นๆร่วมกับการสนับสนุนให้กำลังใจผู้ป่วย เพื่อกลับมาใช้ชีวิตกับคนรอบข้างและสามารถทำงานตามปกติย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับผู้อื่น การรณรงค์เรื่อง การอยู่กับโรคจิตเภท เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคจิตเภท ลดความรังเกียจและช่วยเหลือให้คนเหล่านี้ได้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ ใครบ้างที่ต้องอยู่กับโรคจิตเภท คนแรกคือ ผู้ป่วย โรคจิตเภทเป็นภาวะทางสมองผิดปกติ มีผลต่อความคิด การรับรู้และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โรคนี้จัดกลุ่มอาการเป็นหลายแบบหลายชนิด อาการเหล่านี้รบกวนการใช้ชีวิตทั้งต่อตนเอง คนรอบข้าง และสังคม อาการของโรคจิตเภทที่พบบ่อยได้แก่

-มีความอยากอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป

-มีพฤติกรรมผิดปกติที่สังเกตได้ ได้แก่ ไม่อาบน้ำ พูดคนเดียว แยกตัวอยู่ในห้อง

-อารมณ์ความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ ไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับคนรอบข้าง

-คำพูดผิดปกติได้แก่ พูดจาไม่ต่อเนื่อง แปลกประหลาด

-มีความคิดแปลกๆ เช่น หลงผิดว่ามีคนมาทำร้าย หวาดระแวง

-มีความคิดเชื่อมโยงกับผู้อื่น เช่น คิดว่าคนในโทรทัศน์พูดถึงตนเอง

-รู้สึกในสิ่งที่ไม่เป็นจริง

โรคจิตเภทสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เป็นโรคที่รักษาหายได้ แต่จำเป็นต้องรับการรักษาตั้งแต่สังเกตเห็นอาการและต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง การักษาด้วยยาเป็นวิธีการสำคัญร่วมกับการพูดคุย การทำความเข้าใจโรคและการให้ความรู้กับครอบครัว

สำหรับผู้ป่วยนอกจากความทุกข์ทรมานจากโรคแล้ว ผู้ป่วยยังต้องทุกข์ใจจากอคติและการแบ่งแยกของสังคมอีกด้วย ถึงแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการรณรงค์แต่ก็ยังไม่สามารถลดอคติของสังคมลงได้

นอกจากผู้ป่วย ครอบครัว ญาติพี่น้อง และคนรอบข้างก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องอยู่กับโรคจิตเภท การดูแลและการสนับสนุนของครอบครัวที่มีต่อผู้ป่วยจะมีคุณค่ายิ่งกว่าการดูแลที่อื่นใด โดยเฉพาะครอบครัวที่อยู่ร่วมกันด้วยความรักความผูกพัน จะมีส่วนช่วยและเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยไม่ทุกข์ทรมานจากโรคมากนัก

ในส่วนของทีมผู้บำบัดรักษา จากประสบการณ์การทำงาน ทีมผู้บำบัดจะเข้าใจและรู้จักอาการและการแสดงของของโรคเป็นอย่างดีโดยเฉพาะในระยะเริ่มแรก เข้าใจถึงกระบวนการวินิจฉัยโรคและการรักษา ความเสี่ยงที่จะเกิดโรค ความรู้สึกของผู้ป่วยและญาติเมื่อต้องอยู่กับโรคนี้ อคติตลอดจนการกีดกันของสังคมที่มีต่อผู้ป่วย และความยากลำบากในการฟื้นฟูผู้ป่วยจนสามารถกลับสู่สังคมได้ การบำบัดรักษาในปัจจุบันให้ความสำคัญกับผู้ป่วยเป็นหลัก และเน้นความร่วมมือของทีมงานในการดูแลรักษาผู้ป่วยทำให้ประสิทธิผลในการรักษามีมากขึ้น ซึ่งการยอมรับผู้ป่วยและการใช้แนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวและพึ่งตัวเองได้มากขึ้น

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรเอกชน รวมทั้งสื่อมวลชน ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคจิตเภทเช่นกัน โดย มีบทบาทในการสื่อสารเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจ ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย พัฒนาบริการและการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ของผู้ป่วย โดยเน้นเรื่องความเห็นอกเห็นใจ

โดยสรุปแล้ว ผู้ที่อยู่ร่วมกับโรคจิตเภทมีหลายกลุ่มด้วยกัน หากทุกกลุ่มรวมพลังกันดูแลช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยจิตเภท ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่กับโรคนี้ได้อย่างมีคุณค่า http://www.mentalhealth.org.uk/our-work/world-mental-health-day/world-mental-health-day-2014/http://wfmh.com/wp-content/uploads/2014/09/2014WorldMentalHealthDayTutu.pdf