ผศ. เยาวนุช คงด่าน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด เป็นบริษัทที่จัดตั้งและถือหุ้นโดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ดำเนินงานด้านการบริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงพยาบาล (Hospital Facilities Management) เพื่อสนับสนุนงานโรงพยาบาลด้านต่างๆ กล่าวว่า “บริษัทฯได้จับมือกับสถาบันอีซีอาร์ไอ (ECRI Institute) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา โดยนำผลการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ในการค้นหาวิธีการดูแลผู้ป่วย เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ให้มีมาตรฐาน ซึ่งในการเปิดศูนย์เทรนนิ่ง อบรมหลักสูตรด้านเครื่องมือแพทย์ครั้งแรกในประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ และบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ เพื่อยกระดับคุณภาพและศักยภาพของบุคลากรในการประกอบวิชาชีพด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์”
จากข้อมูลในอุตสาหกรรมการให้บริการทางด้านการแพทย์ ปัจจุบันมีบุคลากรประมาณ150,000 คน ซึ่งจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจึงสามารถทำงานด้านนี้ สำหรับประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศไทยที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคต่างๆ เช่น การผ่าตัดแบบส่องกล้อง การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและชาวต่างประเทศเข้ามารักษาในแต่ละปีมากกว่า 3,000,000 คน ส่งผลให้อุตสาหกรรมด้านเฮลธ์แคร์มีการเติบโตมาก รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ที่มีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาทในปีที่ผ่าน ดังนั้นนอกจากแพทย์แล้วบุคลากรที่ต้องดูแลเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ถือเป็นส่วนสำคัญ และต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตร เพื่อช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด
“ด้วยปัจจัยดังกล่าวทาง “อาร์เอฟเอส” (RFS) จึงเล็งเห็นว่าบุคลากรดังกล่าวถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการบริหารจัดการ และบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ โดยได้จัดหลักสูตรการอบรม 6 หลักสูตร ดังนี้ หลักสูตรเครื่องช่วยหายใจ หลักสูตรเครื่องดมยาสลบ หลักสูตรระบบติดตามสัญญาณชีพ หลักสูตรตู้อบเด็กทารกแรกเกิดและเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า หลักสูตรเครื่องให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ เครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเครื่องวัดความดันโลหิต และหลักสูตรบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งบุคลากรที่เข้าอบรมแต่ละหลักสูตรจะได้รับใบรับรองจากทางสถาบันอีซีอาร์ไอ (ECRI Institute) ทั้งนี้ตั้งเป้าว่าใน 2 ปีแรกจะสามารถสร้างบุคลากรให้กับอุตสาหกรรมประมาณ 250 คน อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่าหลักสูตรดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพ และมาตรฐานบุคลากรในการประกอบวิชาด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ในประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับและแข่งขันกับบุคลากรจากต่างประเทศ เนื่องจากในปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะทำให้การทำงานในสายวิชาชีพมีความเสรี สามารถเดินทางไปทำงานในประเทศต่างๆ โดยมั่นใจในศักยภาพของบุคลากรไทยสามารถแข่งขันในเวทีสากลได้” ผศ.เยาวนุช กล่าวปิดท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit