ประเทศไทยกำลังถูกจับตามองภายใต้แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อควบคุมการค้างาช้าง

10 Oct 2014
แผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทยที่รัฐบาลไทยเสนอต่อ คณะกรรมาธิการไซเตส เมื่อวันที่ 30 กันยายน ดูเหมือนจะไม่ตอบสนองตามข้อเรียกร้องของประชาคมนานาชาติที่ต้องให้มีการปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนต่อปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายภายในประเทศ WWF หรือ กองทุนสัตว์ป่าโลกกล่าว

แผนปฏิบัติการดังกล่าวไม่ได้ระบุรายละเอียดที่จะช่วยให้ผู้บริโภคหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจสอบได้ว่า งาช้างที่ยังคงเหลืออยู่ในตลาดค้าปลีกนั้นไม่ได้มาจากการนำเข้าอย่างผิดกฎหมายจากช้างที่ถูกล่า เนื่องจากแผนปฏิบัติการงาช้างฉบับนี้ยังมิได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดที่นำเสนอในแผน อีกทั้งบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับภายใต้แผนปฏิบัติการฉบับนี้ยังไม่เพียงพอ ส่งผลให้ไม่มีกระบวนการขัดขวางการค้างาช้างผิดกฎหมาย

WWF เสนอว่าวิธีการที่ง่ายและมีประสิทธิภาพมากที่สุดที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรทางการค้าในระดับโลกภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) คือ การยุติตลาดการค้างาช้างภายในประเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่เอื้อให้เครือข่ายอาชญากรรมสามารถดำเนินการฟอกงาช้างที่ถูกลักลอบนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมายให้เป็นงาช้างที่ถูกกฎหมายได้

“แผนปฏิบัติการฯ ที่ประเทศไทยยื่นเสนอมิได้แสดงให้เห็นถึง วิกฤตการณ์ปัจจุบันที่ช้างทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ อันจะทำให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการคว่ำบาตรทางการค้า ซึ่งจะทำให้ประเทศต้องสูญเสียรายได้กว่า 9,700 ล้านบาทต่อปี (US$297 Million)” ดร.โคลแมน โอ คริโอเดน ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าสัตว์ป่า ของ WWF กล่าว

“นาทีนี้คือนาทีที่ประเทศไทยสามารถแสดงถึงความเป็นผู้นำของโลกในเรื่องของช้าง อันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศที่คนไทยเคารพนับถือและเป็นผู้นำในเรื่องแก้ไขปัญหาทุจริตอีกด้วย”

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญกับการกำจัดปัญหาการทุจริตและการลักลอบตัดไม้เป็นประเด็นสำคัญลำดับต้นๆของประเทศชาติ การยุติการค้างาช้างจึงเป็นประเด็นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเด็นที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในการรายงานสถานการณ์ของประเทศชาติต่อประชาชนครั้งล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้กล่างถึงความสำคัญเรื่องการจัดการการค้างาช้างผิดกฎหมาย

“อนุสัญญาไซเตสได้กำหนดระยะเวลาให้ประเทศไทย 6 เดือน ภายในช่วงเวลานี้ รัฐบาลยังคงมีโอกาสที่จะปรับปรุงแผนปฏิบัติการดังกล่าว ตราบใดที่รัฐบาลยังเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน” ดร.โคลแมน โอ คริโอเดน กล่าวเสริม

คณะกรรมาธิการประจำไซเตสได้มีการประชุมกันเมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้ และมีข้อสรุปว่า กฎข้อบังคับของประเทศไทยเกี่ยวกับการจัดการตลาดการค้างาช้างภายในประเทศยังไม่เพียงพอ ตัวแทนรัฐบาลจากประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการประจำฯ ได้ข้อสรุปนี้หลังจากที่ประเทศไทยไม่ได้แสดงให้เห็นความคืบหน้าที่มีนัยยะของแผนปฏิบัติการก่อนหน้านี้และหลังจากที่มีการสำรวจตลาดการค้างาช้างในประเทศไทยโดย TRAFFIC หรือ องค์กรเครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ TRAFFIC พบว่าจำนวนงาช้างโดยรวมที่วางขายมีมากเกินกว่าจำนวนงาช้างที่มาจากช้างบ้านในประเทศไทย ดังนั้น งาช้างที่มีวางขายในตลาดอยู่นั้น ต้องมาจากการนำเข้างาช้างผิดกฎหมายอย่างแน่นอน

ประเทศไทยได้มีเวลาถึงวันที่ 30 กันยายน นี้ที่จะนำเสนอแผนปฏิบัติการฉบับปรับปรุงในการควบคุมการค้าและการครอบครองงาช้างภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และควรเสนอบทลงโทษที่เข้มงวดในกรณีของการครอบครองหรือการค้างาช้างผิดกฎหมายภายในประเทศ และประเทศไทยยังมีเวลาถึงวันที่ 31 มีนาคม 2558 ในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอย่างเข้มข้น มิฉะนั้นประเทศไทยจะเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรทางการค้าในกลุ่มสินค้าภายใต้การควบคุมของอนุสัญญาไซเตส อันนำรายได้มาสู่ประเทศ เช่น กล้วยไม้และหนังจระเข้ เป็นต้น

"วิธีที่ดีที่สุดที่ประเทศไทยสามารถแก้ไขข้อห่วงใยของคณะกรรมาธิการฯ และสามารถแสดงความเป็นผู้นำในประเด็นนี้ในสายตานานาชาติไว้ได้คือ การยุติการค้างาช้างภายในประเทศเท่านั้น ข้อเสนอใดๆที่น้อยกว่าการยุติการค้างาช้างไม่สามารถแก้ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่กับสถานการณ์ที่มีปริมาณงาช้างผิดกฎหมายหมุนเวียนอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก และประเทศไทยยังต้องรับมือกับเครือข่ายอาชญากรรมที่กำลังทำให้ตลาดประเทศไทยเป็นแหล่งฟอกงาช้างผิดกฎหมาย” ดร.โคลแมน โอ คริโอเดน กล่าว