ที่ชุมชนบ้านบุ่งหวาย หมู่ 19 บ้านบุ่งหวายกลาง ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ก็ประสบกับปัญหาขยะล้นชุมชนเช่นกัน ชาวบ้านจึงรวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มเครือข่ายไม้กวาดทองบุ่งหวาย 19” เขียนโครงการขอรับทุนสนับสนุนงานพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพในชุมชนให้เกิดความยั่งยืนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในชุดโครงการสร้างเสริมสุขภาพอย่างง่ายใน 5 ประเด็น ได้แก่ ยาสูบ, แอลกอฮอล์, เกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพ, อาหารปลอดภัยในโรงเรียน และการจัดการขยะ
จากการสำรวจปริมาณขยะของชุมชนบ้านบุ่งหวาย หมู่ที่ 19 ทั้งหมด 150 ครัวเรือน พบว่ามีปริมาณขยะสะสมสัปดาห์ละ 750 กิโลกรัม เฉลี่ยครัวเรือนประมาณ 5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ แยกชนิดเป็นขยะแห้ง 1 กิโลกรัม (ร้อยละ 20) ขยะเปียก 4 กิโลกรัม (ร้อยละ 80) ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนขาดความรู้และขาดแนวทางการจัดการขยะที่ถูกต้อง และไม่มีระบบบริหารจัดการเรื่องขยะเลย ปล่อยให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น จนก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน
การขอสนับสนุนงบประมาณจาก สสส.ในโครงการเมนูอย่างง่ายครั้งนี้ ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 50,000 บาท เพื่อดำเนินโครงการฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาสสำคัญของชุมชนบ้านบุ่งหวายกลางที่จะได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนมีความรู้/ความตระหนักและเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การจัดการขยะที่ถูกต้อง ตลอดจนลดปริมาณขยะในชุมชน นำไปสู่ชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่
สำหรับกิจกรรม เบื้องต้นได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อวางแผนการดำเนินงาน จากนั้นได้นัดประชุมแกนนำและประชาชนในชุมชน เพื่อมาพูดคุยถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขร่วมกัน และแผนงานโครงการตลอดจนแนวทางขับเคลื่อนกระบวนการจัดการขยะในชุมชน พร้อมจัดตั้งคณะทำงานติดตามความก้าวหน้าโครงการ ะและได้มีการแบ่งฝ่ายออกเป็น 5 ฝ่ายหลักคือ 1.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ 2. ฝ่ายจัดทำเครื่องมือและข้อมูล 3.ฝ่ายจัดส่งเอกสารจัดเก็บข้อมูล,4. ฝ่ายคัดแยกและจัดซื้อ และ 5.ฝ่ายสร้างความตระหนักและติดตาม
นายรัฐชนนต์ โสศรีสุขข์ ผู้รับผิดชอบโครงการการจัดการขยะในชุมชนบ้านบุ่งหวาย หมู่ที่ 19 กล่าวว่า โครงการนี้ ผู้นำท้องถิ่น/แกนนำชุมชนโดยเฉพาะประชาชนคนในชุมชนให้ร่วมมือและความสำคัญกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก การแบ่งบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบตามความถนัด มีการบันทึกข้อมูลขยะ ปริมาณขยะ และประเภทขยะ มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อหอกระจายข่าวของหมู่บ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน จัดเวทีประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรม
คณะทำงานยังทำป้ายประชาสัมพันธ์ตามมุม 4 แยกกลางชุมชน จัดอบรมเสริมความรู้เรื่องการจัดการขยะ โดยมีทีมวิทยากรที่จะมาให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะ ตลอดจนเสริมทักษะการจัดการขยะในครัวเรือนและการใช้ประโยชน์จากขยะ บรรยายประกอบกับการสาธิต ทดลองปฏิบัติการทำน้ำหมัก
ส่วนผลที่ได้รับนั้น ชาวบ้านนำพวกเศษผักหรือเศษอาหารไปทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้กับรดพืชผักไร่สวนหรือนา และขยะปลายจากทางมะพร้าวก็นำกลับมาใช้เป็นเชื้อไฟสำหรับการหุงต้มและทำอาหาร นอกจากนี้ยังจัดตั้งธนาคารขยะโดยใช้ศาลากลางหมู่บ้านหมู่ที่ 19 เป็นศูนย์กลางคัดแยกขยะและรับซื้อขยะในทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน และที่สำคัญกระบวนการคัดแยกขยะเบื้องต้นได้มีการคัดแยกมาตั้งแต่ระดับครัวเรือนแล้วและเมื่อได้ปริมาณมากพอก็ประสานพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ในทุกวันที่ 16 หรือ 17 ของทุกเดือน
กิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณขยะในชุมชนลดลงร้อยละ 70 ธนาคารขยะมีเงินทุนหมุนวียนที่สามารถอยู่ต่อไปได้แม้จะจบโครงการฯไปแล้ว ด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ถนนรอบๆ หมู่บ้านสะอาดปราศจากขยะ ปริมาณมลพิษทางน้ำลดลง แหล่งน้ำในชุมชนสะอาด เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำจืดชนิดต่างๆ ประชาชนมีความรู้ ความตระหนัก และเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การจัดการขยะที่ถูกต้อง โดยหันมาใช้วิธีการคัดแยกขยะ และทำปุ๋ยหมักแทนการเผาทำลายเกิดการจัดการขยะอย่างถูกวิธี และมีการคัดแยกขยะ การทำปุ๋ยหมักจากขยะ มีการจัดตั้งธนาคารขยะ ของบ้านบุ่งหวายหมู่ที่19 นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมที่ดียังเอื้อต่อสุขภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ชุมชนน่าอยู่
ทางด้าน นายประยูร อองกุลนะ กรรมการบริหารแผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า ชาวบ้านรู้แล้วว่าขยะเริ่มจากครัวเรือน แต่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชนและท้องถิ่งได้ การรวมกลุ่มดูแลบ้านเรือนของตัวเองให้ปลอดจากขยะ ถือเป็นการใช้ขยะมาเป็นพลังให้เกิดความรักความสามัคคี เช่น เกิดธนาคารขยะ เกิดการรวมกลุ่มนำขยะที่สามารถรีไซเคิลแล้วเอาไปขายเพื่อสร้างรายได้ในระดับหมู่บ้าน นับว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่า ขยะเกิดขึ้นมาจากทุกคน เมื่อทุกคนช่วยกัน ปัญหาขยะก็จะหมดไป
“ผมคาดหวังว่าน่าจะมีนักวิชาการ หรือผู้ที่มีความรู้ระดับท้องถิ่น มาศึกษาวิจัยว่า ขยะเปียกในบ้านรวมๆ กันหลายครัวเรือนระดับหมู่บ้าน นำเข้าโรงบำบัดขยะเปียก มีเตา หรือเครื่องมือการผลิตอัดเป็นเม็ด เป็นปุ๋ยอินทรีย์เม็ดเพื่อขายหรือจำหน่ายในชุมชน น่าจะเป็นมติหนึ่ง และถ้าชุมชนไหนมีขยะเปียกมากเกิน100 กิโลกรัมชึ้นไป หน่วยงานภาครัฐน่าจะเข้ามาช่วยเสริมเรื่องเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติที่มั่นคงและพัฒนาต่อไปได้” นายประยูร แนะนำ
กรณีตัวอย่างของชาวบ้านบุ่งหวาย พิสูจน์ให้เห็นว่าถ้าเกิดการร่วมกลุ่ม ทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ทุกปัญหาในชุมชนก็สามารถจัดการได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit