บลจ.เมย์แบงก์ เพิ่มทุน 60 ลบ. ลุยขยายฐานลูกค้า ดันเป้า AUM แตะ 2 หมื่นล้านบาทใน 5 ปี

06 Oct 2014
เมย์แบงก์ มาเลย์ใจป้ำเพิ่มทุน 60 ล้านบาทให้ บลจ.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เพื่อขยายธุรกิจ และฐานลูกค้าในประเทศ เล็งเพิ่มผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน เป็น 15 ราย และออกกองทุนเอาใจรายย่อย คาดปลายเดือน พ.ย.ปีนี้เริ่มขายกองอีทีเอฟ ลงทุนหุ้น ตปท. จำนวน 4 กอง เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างผลตอบแทนให้ นลท. ชี้การลงทุน ตปท. น่าสนใจ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ เหตุราคาถูก พื้นฐานดี

นายนอร์ อัสซามีน บิน ซาเลห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บลจ. เมย์แบงก์ เปิดเผยว่า กลุ่ม บลจ.เมย์แบงก์ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 60 ล้านบาทให้ บลจ. เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ซึ่งจะส่งผลให้ทุนจดทะเบียนของบลจ.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เพิ่มเป็น 270 ล้านบาท เพื่อนำไปขยายธุรกิจกองทุนในประเทศไทย โดยตั้งเป้ามูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM)ไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปี โดยมองว่าธุรกิจกองทุนรวมในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก จากเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ยังมีอัตราการเติบโตอยู่ นักลงทุนยังหาโอกาสทางเลือกการลงทุนใหม่ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนในระดับที่พึงพอใจ ทำให้ตลาดกองทุนรวมในประเทศไทยยังมีทิศทางที่สดใส อย่างไรก็ตาม บลจ.แต่ละแห่งจำเป็นที่จะต้องออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ที่มีความน่าสนใจ และสอดคล้องกับความต้องการลงทุนของนักลงทุนให้ได้

“บลจ. เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มองโอกาสการลงทุนในตราสารหนี้ หรือตราสารการเงินในต่างประเทศ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลงทุน ในการสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมและกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสของผลตอบแทนที่มั่นคงกว่าให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย ประกอบกับผู้จัดการกองทุนของ บลจ.เมย์แบงก์ มีความเชี่ยวชาญในด้านการลงทุนต่างประเทศ การเป็นบริษัทในเครือเมย์แบงก์ที่ธนาคารเมย์แบงก์ มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับสูง และความแข็งแกร่งของเครือข่ายเจ้าหน้าที่การตลาดของ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จะมีส่วนสำคัญในการขยายฐานลูกค้าในไทย”

สำหรับมุมมองต่อการลงทุนในประเทศไทย นายนอร์ อัสซามีน บิน ซาเลห์ กล่าวว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค อีกทั้งยังมีการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดี ทำให้เมย์แบงก์ เห็นโอกาสในการเข้ามาลงทุนในธุรกิจการเงินที่เมย์แบงก์มีความชำนาญ และเชื่อว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ด้าน ดร.ตรีพล ภูมิวสนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนนำเงินเพิ่มทุนครั้งนี้ไปใช้ในการขยายกิจการ ขยายฐานลูกค้า เสริมศักยภาพในการบริหารจัดการ และนำเงินลงทุนบางส่วนไปพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของบริษัท โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้าเป็นสำคัญ พร้อมกับตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2558 จะออกกองทุนใหม่อีกประมาณ 19 – 20 กองทุน

“บริษัทมีแผนจะขยายฐานลูกค้ารายย่อยเพิ่มเติมผ่านทางผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (Selling Agent) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 7 แห่ง โดยตั้งเป้าจะเพิ่มผู้สนับสนุนการขายฯ อีกประมาณ 7-8 แห่ง รวมทั้งออกผลิตภัณฑ์กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากโดยมีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารอยู่ในระดับสูง ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ารายย่อย”ดร.ตรีพลกล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแผนจะเสนอขายกองทุนจำนวน 6 กองทุน แบ่งเป็น กองทุนตลาดเงิน 1 กอง กองทุนหุ้น 1 กอง และกองทุนอีทีเอฟ (ETF) 4 กอง ซึ่งกองทุนอีทีเอฟ ของบริษัทจะมีจุดเด่น คือ เปิดโอกาสให้นักลงทุนกระจายการลงทุนในต่างประเทศผ่าน 4 ตลาดสำคัญๆ ได้แก่ ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐ เบื้องต้นคาดว่าจะเสนอขายกองทุนอีทีเอฟ ทั้ง 4 กองประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนปีนี้

“เราต้องการเสนอทางเลือกการลงทุนให้กับนักลงทุนที่กำลังมองหาโอกาสการลงทุนในตลาดต่างประเทศ ซึ่งผมมองว่า ตลาดต่างประเทศเป็นตลาดที่ใหญ่ สภาพคล่องสูงกว่าตลาดหุ้นไทย และบริษัทหลายแห่งมีศักยภาพในการทำกำไรสูง น่าจะเป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีให้นักลงทุนไทยได้” ดร.ตรีพล กล่าว

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในต่างประเทศมองว่า ตลาดเกิดใหม่ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจลงทุน เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หุ้นในตลาดเกิดใหม่ปรับตัวขึ้นน้อยกว่าตลาดพัฒนาแล้ว เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือยุโรป ดังนั้น ปีนี้จึงเห็นเงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดมีเงินทุนไหลเข้าในเดือนที่ผ่านมากว่า 7.4 หมื่นล้านบาท โดยมองว่า ประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่น่าสนใจลงทุน ได้แก่ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เพราะถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวจริง ทั้งสองประเทศนี้น่าจะได้รับประโยชน์

ส่วนแนวโน้มมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) ที่จะสิ้นสุดในเดือนตุลาคมนี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบ โดยเชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังไม่เริ่มถอนเงินออกจากระบบ ส่วนแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นคาดว่า จะเห็นความชัดเจนกลางปี 2558 โดยแนะนำให้ติดตามตัวเลขการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของสหรัฐฯ หากเริ่มมีสัญญาณบวกติดต่อกัน 2-3 เดือนก็เชื่อว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่นอน

ดร.ตรีพล กล่าวทิ้งท้ายว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากแล้ว โดยทิศทางของตลาดขึ้นอยู่กับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะเป็นไปตามแผนงานหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ดัชนีฯ อาจปรับฐานได้