กระทรวงวัฒนธรรมขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ๒๕ เรื่อง

06 Oct 2014
เมื่อวันศุกร์ที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศรายชื่อภาพยนตร์ ๒๕ เรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติครั้งที่ ๔ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ซึ่งจัดขึ้นประจำทุกปีในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย รวมภาพยนตร์ที่ประกาศขึ้นทะเบียนรวมครั้งนี้ ๑๐๐ เรื่อง เพื่อให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ โดยนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วยนางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นายโดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ผู้กำกับ และศิลปินเข้าร่วมงานและลงนามในประกาศการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
กระทรวงวัฒนธรรมขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ๒๕ เรื่อง

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า ภาพยนตร์นับเป็นศิลปวัฒนธรรมประเภทหนึ่ง ภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง มีความหมายมากกว่าการสร้างความบันเทิงให้ผู้ชม เพราะภาพยนตร์เป็นสื่อที่สะท้อนสังคมในมิติต่างๆ โดยผ่านจินตนาการของผู้เขียนบท ผู้สร้าง และเมื่อวันเวลาผ่านไป ภาพยนตร์จึงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวในอดีต ผ่านภาพและเสียงที่สะท้อนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สภาพเศรษฐกิจ สังคม ในช่วงเวลานั้นๆ อย่างชัดเจน ภาพยนตร์จึงนับเป็นมรดกวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของชาติ สิ่งสำคัญ การอนุรักษ์มรดกใดๆ ของชาติ ไม่ควรเป็นเพียงหน้าที่ของหน่วยงานหรือบุคลากรของรัฐโดยลำพัง แต่จำเป็นจะต้องให้สาธารณะชนได้รับรู้ ตระหนัก และมีส่วนร่วม ไม่ว่ามากหรือน้อย การอนุรักษ์มรดกของชาติ จึงจะสำเร็จและยั่งยืน เกิดความรู้สึกหวงแหนและภาคภูมิใจร่วมกัน

สำหรับภาพยนตร์ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในปีนี้ ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับบันทึกประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และมีอิทธิพลต่อสังคมที่น่าสนใจ อาทิ ร. ๕ เสด็จประพาสกรุงสต็อกโฮล์ม (๒๔๔๐) ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จฯ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในคราวเสด็จฯ ประพาสยุโรป ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๔๐ [ Siamese Society ] (๒๔๖๓) ภาพยนตร์บันทึกภาพเมืองสยามของ ริชาร์ด เบอร์ตัน โฮล์ม เสด็จอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๗๓ (๒๔๗๓) ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีส่วนของภาพการออกไปแข่งขันยังสนามต่างแดนครั้งแรกของทีมฟุตบอลสยาม Sound Patch Work (๒๔๗๓) บันทึกภาพการแนะนำส่วนงานต่าง ๆ ของสถานีวิทยุกระจายเสียง วังพญาไท สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของไทย [ ปัตตานีในอดีต ] (๒๔๗๔) ภาพยนตร์แนะนำจังหวัดปัตตานี เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๙ โดยปรากฏให้เห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลายประการ พรายตะเคียน (๒๔๘๓) ต้นแบบหนังผีไทย ที่สร้างตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๓ งานวันชาตะ นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบ วังสวนกุหลาบ (๒๔๘๔) ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์งานวันคล้ายวันเกิดของพลตรีหลวงพิบูลสงคราม สันติ-วีณา (๒๔๙๗) ภาพยนตร์ไทยเรื่องยาวเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ จากงานประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ที่ประเทศญี่ปุ่น ที่ปัจจุบัน ได้ค้นพบว่าฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่คลังฟิล์มภาพยนตร์ของ Gosfilmofond ของประเทศรัสเซีย และหอภาพยนตร์แห่งชาติของจีน ซึ่งหอภาพยนตร์กำลังประสานงานเพื่อบูรณะให้นำกลับมาฉายได้ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ [ จำเริญ – จิมมี่ ] (๒๔๙๗) ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์และบรรยากาศก่อนการแข่งขันชกมวยสากลครั้งประวัติศาสตร์ของไทย ระหว่าง จำเริญ ทรงกิตรัตน์ นักมวยไทยคนแรกได้ขึ้นชกชิงตำแหน่งแชมเปี้ยนโลก กับ จิมมี่ คารัทเธอร์ แชมเปี้ยนโลกชาวออสเตรเลีย [หาบข้าว นวดข้าว สีข้าว แต่งงานภาคใต้] [๒๕๑๑-๒๕๑๒] ภาพยนตร์บันทึกกรรมวิธีเก็บข้าวทางภาคใต้อย่างละเอียด และภาพยนตร์ที่น่าสนใจอีกมากมายทั้ง ชั่วฟ้าดินสลาย (๒๔๙๘) ข้าวกำมือเดียว (๒๔๘๓) พี่ชาย (๒๔๙๔) มนต์รักทรานซิสเตอร์ (๒๕๔๔) แฟนฉัน (๒๕๔๖) ดอกฟ้าในมือมาร (๒๕๔๓) นางนาก (๒๕๔๒) กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (๒๕๓๗) กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ (๒๕๓๔) คนเลี้ยงช้าง (๒๕๓๓) คนทรงเจ้า (๒๕๓๒) สำเพ็ง (๒๕๒๕) ตลาดพรหมจารีย์ (๒๕๑๖) รักริษยา (๒๕๐๐) เศรษฐีอนาถา (๒๔๙๙)

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการการพิจารณาขึ้นทะเบียนภาพยนตร์มรดกของชาติประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้ชี้แจงหลักเกณฑ์ว่า “การพิจารณาคัดเลือกภาพยนตร์เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติในปีที่ ๔ นี้ หอภาพยนตร์ได้รับความกรุณาจากผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก รวม ๖ ท่าน ได้แก่ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ๑. อาจารย์กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ๒. ผศ.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ นักภาษาศาสตร์ ๓. อาจารย์พิชัยวัฒน์ แสงประพาฬ นักวิชาการภาพยนตร์ ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๔. นายวิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการนิตยสาร happening ๕. นายบรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์ และหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติปีที่ ๓ คือ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ คุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์ มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ บูรณภาพ ความเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือยากแก่การหาทดแทน และอิทธิพลต่อคนและสังคม”

โดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้กล่าวว่า นอกจากวันนี้เป็นวันประกาศขึ้นทะเบียนภาพยนตร์เป็นมรดกของชาติแล้ว วันนี้ยังเป็นวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย “หอภาพยนตร์ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศให้วันที่ ๔ ตุลาคม เป็น วันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย ทั้งนี้เพราะ วันนี้ ๔ ตุลาคม เมื่อ ๔๘ ปีล่วงมาแล้ว คือเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ที่สถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง ๔ บางขุนพรหม มีการประชุมของคณะอนุกรรมการการสื่อสารมวลชน ในคณะกรรมการชาติว่าด้วยองค์การยูเนสโกแห่งประเทศไทย ซึ่งมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ทรงเป็นประธาน เราไม่ทราบว่าวาระการประชุมวันนั้นมีหัวข้ออะไรบ้าง แต่ดูเหมือนว่า หัวข้อสำคัญที่สุดเพราะเป็นเรื่องเดียวที่ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก็คือ เรื่องที่คณะอนุกรรมการมีมติเสนอแนะให้หอสมุดแห่งชาติ เปิดแผนกเก็บฟิล์มภาพยนตร์ ในฐานะเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม

“ แม้ว่าข้อเสนอแนะนี้จะไม่สำเร็จเป็นจริง แต่นี่คือมติแห่งประวัติศาสตร์ของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการแสดงเจตนาสาธารณะอย่างเป็นทางการ เรียกร้องให้มีการอนุรักษ์ภาพยนตร์ขึ้นในประเทศไทย หอภาพยนตร์ กระทรวงวัฒนธรรม จึงกำหนดและประกาศให้วันที่ ๔ ตุลาคม เป็นวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย”

ผู้ที่สนใจเข้าชมภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติทั้ง ๔ ครั้ง สามารถติดต่อขอชมได้ที่ ห้องสมุดเชิด ทรงศรี หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ศาลายา นครปฐม และภาพยนตร์สถาน ชั้น ๒ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างไร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ๐๒ ๔๘๒ ๒๐๑๓-๑๔ ต่อ ๑๑๑ www.fapot.org หรือ www.facebook.com/thaifilmarchivepage