พม.จัดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนระบบงานด้านการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์(อุ้มบุญ)

06 Oct 2014
พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมเพื่อขับเคลื่อนระบบงานด้านการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์(อุ้มบุญ) เพื่อเปิดพื้นที่ในการขับเคลื่อนระบบงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการอุ้มบุญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมชั้น ๘ อาคารใหม่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า จากเสียงสะท้อนภาคประชาสังคม เกี่ยวกับกรณีการอุ้มบุญและความรุนแรงของปัญหา เช่น การนำเด็กไปทำเสต็มเซลล์ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯได้ติดตามเสียงสะท้อนจากเวทีการพุดคุย และข่าวสารความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม อาทิ จากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ได้จัดเสวนาเรื่อง“กฎหมายอุ้มบุญ เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์กับความเป็นธรรมทางเพศ” เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๗ โดยมีประเด็นความคิดเห็นว่า ๑)ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ อาทิ กำหนดสถานะความเป็นบิดา มารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ควบคุมไม่ให้มีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องในทางที่ไม่ถูกต้อง ให้น้ำหนักกับการห้ามและลงโทษบริการเทคโนโลยีนี้เพื่อตอบแทนทางธุรกิจ และผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ต้องเป็นสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ๒)ขอบเขตเนื้อหาร่างกฎหมายมีความจำกัด สังคมมีคำถามถึงการห้ามไม่ให้มีบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ดำเนินการในรูปธุรกิจ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากน้อยเพียงใด และอาจผลักดันให้บริการนี้หลบเลี่ยงอยู่นอกเหนือการควบคุมของกฎหมาย นำไปสู่สถานการณ์ที่ผู้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีค่าตอบแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม ถูกละเลย ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพ กลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย และต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่ ๓)ข้อคำถาม ที่เป็นโจทย์ให้ร่วมกันพิจารณา มีดังนี้ ไม่ควรห้ามเชิงพาณิชย์ ไม่ควรปิดกั้นคู่ชีวิตเพศเดียวกัน และบุคคลที่เป็นโสดไม่ให้ มีลูก โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันทางการแพทย์ กฎหมายควรให้เด็กเข้าถึงสิทธิความเป็นพลเมืองในรัฐที่เป็นภูมิลำเนาของพ่อแม่ผู้ว่าจ้าง หากรัฐจะเข้ามาช่วยกำกับดูแล ต้องระวังว่าจะเป็นการช่วยลดความไม่เป็นธรรม หรือเป็นการผลิตซ้ำความไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ จากประเด็นข้างต้น เป็นตัวอย่างของเสียงสะท้อน ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ยินดีรับฟังและนำมาพิจารณาตามกรอบอำนาจหน้าที่ เพื่อให้เกิดความลงตัวอย่างเหมาะสม โดยเป้าหมายของการดำเนินงาน คือ ประโยชน์สูงสุดต้องเกิดกับเด็ก ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ ซึ่งมอบให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพ และพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ(สท.) นำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการอุ้มบุญ อาทิ แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างประเทศ สำนักอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อติดตามองค์ประกอบของการอุ้มบุญอย่างรอบด้าน ซึ่งมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ขณะนี้ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก อยู่ในกระบวนการพิจารณานำเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยคาดว่าในต้นปีหน้ากฎหมายฉบับนี้จะสามารถบังคับใช้ได้ ส่วนกรณีเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญ ทั้ง ๑๓ คน ซึ่งขณะนี้อยู่ในความดูแลของกระทรวงฯ ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลเด็กเป็นอย่างดี ทั้งนี้ได้มอบหมายให้แพทยสภากับกระทรวงฯ ร่วมกันพิจารณาสถานะของเด็กทั้ง ๑๓ คน ให้รอบครอบอีกครั้ง ทั้งในด้านกฎหมาย จิตวิทยา และสังคม โดยจะทราบผลที่ชัดเจนในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ยังให้ทางแพทยสภาวางมาตรการตรวจสอบคลีนิกที่รับอุ้มบุญแบบถูกกฎหมาย ทั้ง ๔๒ แห่ง ให้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง รวมถึงทำความเข้าใจกับแพทย์ว่าการรับทำอุ้มบุญต้องไม่เป็นไปในเชิงพาณิชย์