จากการกิจกรรมวิ่งแข่งที่สนุกสนานของผู้พิการทางสติปัญญากลุ่มเล็กๆ บริเวณสนามหลังบ้านของตระกูลเคนเนดี้ ในเมืองชิคาโก้จนถึงวันนี้ องค์กรสเปเชียลโอลิมปิคได้สร้างนักกีฬาผู้พิการทางสติปัญญาหรือนักกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคมากกว่า 4 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยนั้น ได้เริ่มดำเนินโครงการสเปียลโอลิมปิคขึ้นในปี 2531 ปัจจุบันมีนักกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคไทยจากทั่วประเทศกว่า 17,000 คนเข้าร่วมฝึกซ้อมและแข่งขันกีฬาชนิดต่างๆ ผ่านการตรวจคัดกรองสุขภาพจากแพทย์อาสา และได้รับโอกาสพัฒนาทักษะในการใช้ชีวิตในสังคมปกติ จนหลายคนสามารถประกอบอาชีพเฉกเช่นคนปกติทั่วไป และประสบความสำเร็จในด้านการกีฬาเป็นที่ภาคภูมิใจของครอบครัวทั้งนี้ สเปเชียลโอลิมปิคเป็นองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสมองและปัญญา ด้วยการส่งเสริมความเข้าใจและสร้างการยอมรับในสังคมระหว่างคนปกติกับผู้พิการทางสมองและปัญญา โดยเปิดโอกาสให้บุคคลผู้พิการทางสติปัญญาทุกเพศ ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ได้ฝึกฝนทักษะทางด้านกีฬา และเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาสเปเชียลโอลิมปิค ตลอดจนกิจกรรมที่พัฒนาสุขภาพพลานามัยสำหรับผู้พิการทางสติปัญญา ให้มีโอกาสในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้แสดงออกถึงความกล้า และความมั่นใจ การสร้างความผูกพันธ์กับครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ตลอดทั้งปี
โดยในวันที่ 27 กันยายนของทุกปี นักกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคทั่วโลกจะเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อระลึกถึง นางยูนิส เคนเนดี้ ไชร์เวอร์ ผู้ก่อตั้งโครงการสเปเชียลโอลิมปิค ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้มอบโอกาสในการเปลี่ยนชีวิตของผู้พิการทางสติปัญญาจากทั่วโลกหลายล้านคน ภายใต้ชื่องานว่า "Eunice Kennedy Shriver Day" หรือ EKS Day ส่วนประเทศไทยนั้นได้จัดเฉลิมฉลองด้วยกิจกรรมการแข่งขัน "กีฬาอนุชน"(Young Athletes) ให้กับนักกีฬาผู้พิการทางสมองและปัญญาระหว่างวัย 3-7 ปี จำนวน 80 คน ที่ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมด้วยการตรวจคัดกรองสุขภาพโดยแพทย์อาสา ภายใต้การดูแลของคุณครู ผู้ปกครอง แพทย์พยาบาล และนักศึกษาอาสาสมัคร จำนวน 110 คน
ทั้งนี้ ผลการวิจัยค้นพบว่า ผู้พิการทางสมองและปํญญา ที่เล่นกีฬา และ ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เยาว์วัย จะสามารถพัฒนาทักษะทางด้านสังคม ด้านจิตใจ ด้านการสื่อสาร และความสามารถในการเรียนรู้ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนทางด้านพฤติกรรม ได้ดีขึ้นถึง 74 – 85% ดังนั้นโครงการนักกีฬาอนุชน จึงเรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นพัฒนาการของผู้พิการกลุ่มนี้ตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเรียนรู้ด้านต่างๆต่อไป ซึ่งเป็นโครงการที่เหมาะสำหรับเด็กเล็กวัยระหว่าง 2-7 ปี โดยมีเป้าหมายหลัก คือ 1.จัดกิจกรรมกึ่งกีฬากึ่งนันทนาการ เพื่อพัฒนาความสามารถของเด็กที่มีความพิการทางสมองปัญญาในด้านร่างกาย การรับรู้เรียนรู้ และการเข้าสังคม 2.ต้อนรับครอบครัวเด็กพิเศษรายใหม่ เข้าสู่โครงการสเปเชียลโอลิมปิค 3.ส่งเสริมให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศักยภาพ และความสามารถของเด็กที่พิการทางสมองและปัญญา ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมในฐานะอาสาสมัคร การสาธิต และรายการอื่น ๆ
นอกจากนี้ กิจกรรมกีฬาอนุชนยังเหมาะสำหรับการประกอบหลักสูตรของการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาพิเศษเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากรูปแบบของกิจกรรมแบบนันทนาการ ควบคู่กับการฝึกทักษะแล้ว ตัวกิจกรรมยังถูกออกแบบให้สมาชิกในครอบครัวร่วมฝึกฝน และเล่นกับนักกีฬาอนุชนที่บ้านอย่างสนุกสนาน เพราะเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กพิเศษ และเด็กปกติได้ทำกิจกรรมร่วมกันอีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit