หลักสูตรชุมชนน่าอยู่ ”บ้านสำโรง” เลือกสภาผู้นำ-คัดครอบครัวต้นแบบ

06 Oct 2014
บ้านสำโรง ต.ท่าสว่าง เป็นชุมชนขนาดกลางที่มีความหนาแน่น อยู่ห่างจาก อ.เมือง สุรินทร์ 7.5 กิโลเมตร มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 182 ครัวเรือน จำนวนประชากร 763 คน แยกเป็นชาย 395 คน หญิง 368 คน มีเนื้อที่ประมาณ 4,500 ไร่ แบ่งออกเป็น พื้นที่เพื่ออยู่อาศัย รวม 700 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร รวม 3,300 ไร่
หลักสูตรชุมชนน่าอยู่ ”บ้านสำโรง” เลือกสภาผู้นำ-คัดครอบครัวต้นแบบ

เนื่องด้วยชาวบ้านสำโรงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก จากที่เคยเพื่อยังชีพก็กลายมาเป็นเพื่อสร้างรายได้ แต่ไม่มีการจัดการที่ดี การขาดความรู้ มีค่านิยมและความเชื่อที่ผิด เห็นแก่ตัว ขาดความตระหนัก ภาวะน้ำท่วมและภัยแล้ง ระบบและการแข่งขันทางการตลาด ค่านิยมการบริโภคและพ่อค้าแม่ค้าคนกลางที่นิยมผักที่สวยไม่มีหนอนแมลงเจาะ ความเคยชินและกระแสทางเศรษฐกิจทุนนิยม การทำการเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น ปลูกผักชนิดเดียวในพื้นที่มากๆ ทำให้มีแมลงและโรคพืชระบาดได้ง่าย เกษตรกรจึงต้องพึ่งพาสารเคมี ทั้งปุ๋ยเคมี ฮอร์โมนและยาฆ่าแมลง

ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า มี 98 ครัวเรือนที่ยังไม่เคยอบรม และไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ถูกต้องและปลอดภัย เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นชาวชุมชนบ้านสำโรงจึงร่วมกันวิเคราะห์และหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และได้จัดทำโครงการบ้านสำโรงน่าอยู่ “ปลูกผักปลอดสารพิษ” ภายใต้โครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นายพีรวัศ คิดกล้า ผู้ใหญ่บ้านบ้านสำโรง เล่าว่า หลังจากเราได้แนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้แล้ว ก็เริ่มดำเนินการโดยจัดตั้งสภาผู้นำ หรือสภาแกนนำจำนวน 53 คน และตั้งเป้าหมายไว้ 3 ข้อ คือ 1.สภาแกนนำต้องเข้มแข็งมีการประชุมทุกเดือน 2.การมีส่วนร่วม ชุมชมมีความรักใคร่สามัคคีกันมากขึ้น เพราะถ้าเรามีสภาแกนนำที่เข้มแข็งแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนก็คือ การมีส่วนร่วมของชาวบ้าน และ 3.ลดการใช้สารเคมีไปจนถึงการปลอดสารเคมี

“บ้านสำโรง เป็นหมู่บ้านปลูกผักเป็นหลัก ซึ่งมีมากถึง 67 ราย และปลูกเพื่อจำหน่ายตลาด 27 ราย ซึ่งแต่ก่อนพบว่าใช้สารเคมีเยอะมาก เฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายสำหรับสารเคมีมากถึงปีละ1.2 ล้านบาท” ผู้ใหญ่พีรวัศ ให้ข้อมูล และเพิ่มเติมว่า ยังมีผู้เสียชีวิตจากจากสารพิษตกค้าง ทางชุมชนจึงเร่งหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวและได้เพิ่มเติมกิจกรรมในโครงการออกไปหลายๆ แบบ เพื่อให้ครอบคลุมคำว่า “ชุมชนน่าอยู่”

อย่างไรก็ดีหลังจากดำเนินการ 3 เดือน พบว่าภาระไปกระจุกที่บางกลุ่ม จึงแบ่งสภาคุ้ม ให้คนแต่ละคุ้มเลือกประธานคุ้มเข้ามา สั่งงานผ่านระบบคุ้ม 8-10 คน เพื่อให้ออกตรวจครัวเรือนต้นแบบ ซึ่งรูปแบบการจัดการชุมชนลักษณะนี้ ถือเป็นการจัดการแนวใหม่ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

นั่นคือ การสร้างสภาผู้นำ แล้วร่วมกันทำแผนชุมชน ก่อนจะนำแผนดังกล่าว เสนอต่อชุมชนหรือชาวบ้าน ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จากนั้นก็สร้างกิจกรรม วางเป้าหมายให้เกิดสุขภาวะที่ดีในชุมชน ค้นหาต้นแบบ หรือครอบครัวตัวอย่าง สร้างเป็นโมเดลใหม่ ให้เกิดชุมชนสุขภาวะอย่างยั่งยืน

สำหรับครัวเรือนต้นแบบหรือครัวเรือนน่าอยู่ของบ้านสำโรง จะประกอบด้วย 1.ปลูกผักไม่น้อยกว่า 5 ชนิด 2.มีการคัดแยกขยะในครัวเรือน 3.มีการลด ละ เลิกเหล้า 4.ร่วมกิจกรรมประชุมหมู่บ้านทุกครั้ง และ 5.มีการกำจัดแหล่งน้ำขังป้องกันลูกน้ำยูงลาย

ทั้งนี้พบว่าชาวบ้านให้ความร่วมมือใน 4 ข้อ มากถึง 80% โดยเดือนแรก การปลูกผักพบว่าปลูกผักไว้กินเอง 82 ครัวเรือนจาก 154 ครัวเรือน แต่เมื่อเริ่มดำเนินโครงการ ทุกครัวเรือนมีการปลูกผักไว้กินไม่ต่ำกว่า 5 อย่างทุกครัวเรือน การคัดแยกขยะมีเพียง 38 ครัวเรือน เมื่อครบ 1 ปี พบว่ามีการขัดแยก 132 ครัวเรือน มีครัวเรือปลดเหล้า 37 ครัวเรือน มีครัวเรือนปลอดลูกน้ำยุงลายมากขึ้น 72 ครัวเรือน การร่วมประชุมหมู่บ้านทุกครั้ง จำนวน 94 ครัวเรือนเฉลี่ย แต่เมื่อพอดำเนินโครงการค่าเฉลี่ยมีมากขึ้น 129 ครัวเรือน ซึ่งเราจะคัดครัวเรือนต้นแบบและมอบป้ายประกาศให้เป็นรางวัลขวัญกำลังใจ

“พื้นที่รอบๆ หนองน้ำชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่าเราก็จัดสรรให้ชาวบ้านปลูกผักปลอดสารพิษ สนับสนุนการทำน้ำหมัก การเพาะกล้าไม้ มีแปลงผักสวนครัว แปลงพันธุ์ไม้หายาก แปลงสมุนไพร ที่อนุรักษ์ไว้รอบๆ วัดอีกด้วย” นายพีรวัศ กล่าว

ด้าน นายทวีสุข ปัญญาเอก ชาวบ้านบ้านสำโรง เล่าถึงการร่วมโครงการว่า เมื่อก่อนตนเองทำงานในโรงงาน เช้ารอรถมารับไปทำงานเย็นก็กลับมานอนเป็นแบบนี้หลายปี จนวันหนึ่งก็ตื่นมาก็คิดว่า ที่ทำอยู่มันมีความสุขจริงหรือ ตื่นมาก็ต้องมารอรถไปทำงานแบบนี้เหรอ จึงลาออกมาจากโรงงานมาขับรถโดยสารและปลูกผักปลอดสารพิษควบคู่ไปด้วย

พยายามศึกษาปลูกผักให้ครบวงจร เราก็อาศัยความรู้ที่พอมีอยู่บ้างเพราะพ่อแม่ก็ปลูกผักมาก่อน เราก็นำมาประยุกต์มาปรับใช้กับเรา อย่างพืชตัวไหนเราสนใจแต่เราไม่เคยทำมาก่อนก็ไปศึกษาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตในเบื้องต้นก่อน เราทำแบบนี้เรามีความสุข มีคนชวนไปทำงานโรงงานอีกก็ไม่ไปแล้ว

ส่วน จุฑาทิพย์ ต่อยอด หัวหน้าโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า โครงการร่วมสร้างชุมชนและสังคมให้น่าอยู่ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินการมาแล้ว 2 รุ่นๆ ที่ 1 จำนวน 54 หมู่บ้าน รุ่นที่ 2 จำนวน 140 หมู่บ้าน และรุ่นที่ 3 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่จำนวน 174 หมู่บ้าน โดยความสำเร็จของแต่ละโครงการเราเน้นที่ 1.การสร้างสภาแกนนำชุมขนให้เข้มแข็ง และ 2.ผลลัพธ์ของโครงการ แต่สิ่งแรกที่เน้นย้ำ คือ แต่ละโครงการจะต้องสร้างสภาแกนนำให้เข็มแข็งก่อนเป็นอับดับแรก เมื่อผลลัพธ์ของโครงการสำเร็จสามารถขยายผลไปสู่หมู่บ้านอื่นๆ และขยายประเด็นที่ของตนเองทำได้ด้วย เช่น บ้านสำโรง ซึ่งมีจุดเด่นที่สภาแกนนำที่เข้มแข็ง ขับเคลื่อนโครงการจนนำไปสู่การแก้ปัญหาทุกเรื่องในหมู่บ้านและการปลูกผักปลอดสารพิษ

ชุมชนจะต้องแก้ปัญหาได้โดยใช้กลไกลสภาแกนนำชุมชนเข้มแข็งเป็นตัวขับเคลื่อน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การที่ชุมขนมีสภาแกนนำที่เข้มแข็งสามารถเป็นแบบอย่างและชุมชนมีความสามัคคีไม่ว่าจะทำโครงการอะไรก็จะประสบผลสำเร็จทั้งสิ้นบ้านสำโรง มีผลการดำเนินงานสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ เพราะการมีสภาแกนนำที่เข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ที่กล้าคิด กล้าเปลี่ยนวิถีชีวิต อันเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนให้ชุมชนให้น่าอยู่

หลักสูตรชุมชนน่าอยู่ ”บ้านสำโรง” เลือกสภาผู้นำ-คัดครอบครัวต้นแบบ หลักสูตรชุมชนน่าอยู่ ”บ้านสำโรง” เลือกสภาผู้นำ-คัดครอบครัวต้นแบบ หลักสูตรชุมชนน่าอยู่ ”บ้านสำโรง” เลือกสภาผู้นำ-คัดครอบครัวต้นแบบ
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit