กระทรวงเกษตรฯ แจงนโยบายด้านการเกษตรไทยต่อองค์การพันธมิตรธุรกิจยุโรป-อาเซียน หวังสร้างความเข้าใจในการลงทุนภาคการเกษตรในไทย

16 Oct 2014
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ Mr.March Czaplicki ผู้บริหารองค์การพันธมิตรธุรกิจยุโรป-อาเซียน (Europe-Asean Business Aliance: EABA) และคณะนักธุรกิจสหภาพยุโรป ว่า องค์การพันธมิตรธุรกิจยุโรป-อาเซียน ได้เข้าหารือและรับทราบนโยบายด้านการเกษตรต่างประเทศของไทย เพื่อมองหาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ระหว่างภูมิภาคยุโรปและอาเซียน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ชี้แจงถึงนโยบายสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและมีรายได้ที่เหมาะสม โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น ช่วยลดต้นทุน ช่วยเหลือปัจจัยการผลิต ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย การลดอุปสรรคการส่งออกเพื่อให้เกิดความคล่องตัว เช่น ปรับปรุงมาตรการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าและมาตรฐานการผลิตไร่นา ส่วนด้านการผลิตการเกษตร ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการ เช่น การแบ่งเขตการปลูกพืชแต่ละชนิดให้สอดคล้องกับเขตเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้างกระบวนการผลิต รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของสถาบันสหกรณ์ให้ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อ-ขายผลผลิตจนถึงการแปรรูป และส่งออกด้วยในบางกรณี เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในตลาด

นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า ในส่วนการจัดโซนนิ่งสินค้าเกษตรซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญนั้น เป็นการสร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของสินค้า โดยส่งเสริมให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในเขตที่มีความเหมาะสมและลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น และสามารถรักษาเสถียรภาพราคาและยกระดับรายได้ของเกษตรกร ซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่ได้บังคับให้เกษตรกรปฏิบัติตาม แต่ยึดหลักการมีส่วนร่วมและเป็นไปตามความสมัครใจ โดยกระทรวงเกษตรฯ มีแนวทางสนับสนุน เช่น สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นทั้งด้านการผลิตและการตลาด ร่วมมือกับเอกชนในการกำหนดนโยบายและปริมาณการผลิตให้เหมาะสม และการวางแผนการตลาดที่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่นในด้านการตลาดและราคาของสินค้าเกษตรที่อยู่ภายใต้เขต Zoning ทำให้เกษตรกรตัดสินใจเข้าร่วมได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายในการทำการเกษตรแบบยั่งยืน ทั้งเรื่องของ Green Agriculture City ซึ่งให้ความสำคัญในการผลิตสินค้าเกษตรให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ โดยเกษตรกรต้องสร้างเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะผลิตสินค้าปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีต่อไป

นอกจากนี้ คณะนักธุรกิจสหภาพยุโรป ได้หารือเกี่ยวกับการนำเข้าพืชตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) รวมถึงมาตรการจัดการต่อปัญหาการปลอมแปลงสินค้าเกษตร โดยขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าพืช GMOs ยกเว้นข้าวโพด และถั่วเหลือง ซึ่งต้องเป็นการนำเข้าเพื่อการแปรรูปเท่านั้น รวมทั้งไม่มีการอนุญาตให้ปลูกพืช GMOs ยกเว้นในแปลงทดลอง สำหรับการควบคุมการนำเข้าจากชายแดน กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร จะทำการตรวจเพื่อรับรองพืชนำเข้า ตามพระราชบัญญัติกักพืช ส่วนมาตรการจัดการต่อปัญหาการปลอมแปลงสินค้าเกษตรนั้น ประเทศไทยได้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในการสร้างนวัตกรรม หรือนำเข้าเทคโนโลยีใหม่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้

ทั้งนี้ องค์การพันธมิตรธุรกิจยุโรป-อาเซียน และคณะนักธุรกิจสหภาพยุโรป จะนำข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายด้านการเกษตรดังกล่าวไปประกอบการตัดสินใจในการลงทุนภาคการเกษตรในไทยต่อไป