‘PHA’ แอพ.“ผู้ช่วยคนใหม่”ของผู้ป่วยเบาหวานบนสมาร์ทโฟน อุ่นใจเหมือนมีคุณหมอมาอยู่ใกล้ ผลงานเยาวชนโครงการ "ต่อกล้าให้เติบใหญ่" ปี 2 สร้างสรรค์ได้ - ใช้งานจริง

17 Oct 2014
โรคเบาหวาน” กำลังเป็นภัยเงียบของคนไทยและของคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทย เมื่อปลายปี 2556กระทรวงสาธารณสุขได้อ้างถึงผลสำรวจสุขภาพคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปพบว่า ในปี 2552 คนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานมากกว่า 3.5 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการรักษา 47,596 ล้านบาท/ปี ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานเฉลี่ยปีละเกือบ 8,000 ราย และมีแนวโน้มพบในเด็กมากขึ้นเพราะปัญหาโรคอ้วนและพฤติกรรมการกินหวาน หากไม่มีการป้องกันและควบคุมโรคที่ดีพอ คาดว่าในอีก 8 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยมากถึง 4.7 ล้านราย ขณะที่โรคเบาหวานยังเป็นปากทางนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ อาทิ โรคไต และโรคหัวใจ หากขาดการรักษาอย่างใกล้ชิด และขาดการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ ผู้ป่วยเบาหวานอาจต้องทนทุกข์ทรมานกับภัยคุกคาม ทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ อย่างต่อเนื่องเรื้อรังจากข้อเท็จจริงอันน่าสะพรึงกลัวนี้ส่งผลให้เด็กหนุ่มจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ “นายเกียรติ์อธีติ อนุสรณ์ภักดี” หรือ “อั้ม”นักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่ 1 เล็งเห็นถึงปัญหาและลุกขึ้นมาใช้ศักยภาพด้าน ICT ของตน ต่อยอดพัฒนาผลงานPersonal Health Assistant โปรแกรมสุขภาพส่วนบุคคลบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟน (PHA) ซึ่งคว้ารางวัลอันดับ 2 การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยประจำปี 2557 ขึ้นไปอีกขั้น โดยให้มีความจำเพาะกับผู้ป่วยเบาหวานมากขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ปี 2 ดำเนินการโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วัตถุประสงค์เพื่อให้ โปรแกรมสุขภาพส่วนบุคคลบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟน เป็นแอพพลิเคชั่นที่สามารถใช้งานได้จริง และขยายผลไปสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยเบาหวานในวงกว้าง

“อั้ม” ให้ข้อมูลว่า PHA เป็นแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยบันทึกข้อมูลสุขภาพ ให้คำแนะนำผู้ป่วย รวมถึงแจ้งเตือนผู้ป่วยและญาติหากพบภาวะเสี่ยง เช่น เมื่อผู้ป่วยลืมฉีดยา หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ “ในประเทศไทย ผู้ป่วยเบาหวานมักใช้สมุดจดบันทึกการฉีดยาและระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้มีความไม่สะดวกเพราะต้องพกสมุดจดและปากกาติดตัวตลอดเวลา บางครั้งผู้ป่วยก็ลืมพกสมุดจดเมื่อไปพบแพทย์ การใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือเป็นผู้ช่วยบันทึกข้อมูลจึงลดภาระการพกสมุดจดของผู้ป่วย เมื่อบันทึกข้อมูลแล้ว ผู้ป่วยยังสามารถส่งต่อข้อมูลถึงมือแพทย์ได้ทันที จึงลดภาระของตัวเอง ไม่ต้องเดินทางไปพบแพทย์บ่อยๆ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และลดภาระของโรงพยาบาลที่ต้องรองรับผู้ป่วยจำนวนมากในแต่ละวัน” เยาวชนเจ้าของผลงานกล่าวหลังเข้าร่วมโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” และได้รับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิให้นำแอพพลิเคชั่นกลับไปทดลองใช้จริงกับผู้ป่วยโรคเบาหวานเพื่อเก็บข้อมูลกลับมาพัฒนาต่อ อั้มได้นำผลงานไปขอคำปรึกษากับ นพ.นพดล เกียรติศิริโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญโรคเบาหวานจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนางสาวมุกริน วรรณสะโร เพื่อนนักศึกษาจากภาควิชา ICT ซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 ตับอ่อนสร้างอินซูลินได้น้อยมาก จำเป็นต้องฉีดอินซูลินทุกวันต่อเนื่องตลอดชีวิต ทำให้เขาได้รับข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลงานให้สอดคล้องกับความต้องการของแพทย์และผู้ป่วยเบาหวานอย่างแท้จริง ทำให้ PHA เป็นแอพพลิเคชั่นที่มีความจำเพาะกับโรคเบาหวานมากกว่าแอพพลิเคชั่นดูแลสุขภาพอื่นๆ ในท้องตลาด

เยาวชนคนเก่งยังบอกด้วยว่า ขณะนี้การพัฒนาโปรแกรมสุขภาพส่วนบุคคลบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟนมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงระบบการบันทึกและแสดงผลข้อมูลเป็นค่าเฉลี่ยและสถิติตามที่ผู้เชี่ยวชาญโรคเบาหวานให้คำแนะนำ โดยหวังว่าเมื่อพัฒนาผลงานเสร็จสิ้นแล้ว แอพพลิเคชั่นนี้จะได้รับการนำไปใช้จริงในโรงพยาบาล และแพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานนำไปใช้เพื่อเป็นระบบติดตาม - รักษา แพทย์สามารถสืบค้นข้อมูลผู้ป่วยได้จากระบบจัดเก็บข้อมูลส่วนกลางของโรงพยาบาล เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์อาการ เลือกวิธีการรักษา หรือให้คำแนะนำผู้ป่วยเป็นรายบุคคลได้อย่างเหมาะสม สะดวก ไม่สิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่าย จึงช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดูแลตัวเองได้ถูกต้อง และชัดเจน ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพที่ยากเกินควบคุม หรือเกิดการแทรกซ้อนของโรคร้ายอื่นๆ

ขณะที่โอกาสเติบโตทางธุรกิจของ PHA เนื่องจากอัตราการขยายตัวของผู้ป่วยโรคเบาหวานยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับตลาดความต้องการใช้สมาร์ทโฟนของคนไทยยังคงมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การใช้แอพพลิเคชั่นที่มีความจำเพาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานเพื่อลดภาวะเสี่ยงของผู้ป่วย พร้อมๆ กับเพิ่มความสะดวกสบายในกระบวนการรักษา จึงทำให้ PHA มีโอกาสประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก รวมทั้งจะช่วยประเทศลดการสูญเสียค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคเบาหวานมูลค่าปีละหลายหมื่นล้านบาท

“เมื่อผู้ป่วยเบาหวานสามารถดูแลตัวเองได้ สังคมไทยก็จะได้กำลังคนในการพัฒนาประเทศกลับคืนมาด้วย” เยาวชนเจ้าของผลงาน PHA แอพพลิเคชั่นผู้ช่วยดูแลสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานบนสมาร์ทโฟน กล่าวปิดท้าย