สำหรับการประชุมร่วมของผู้ว่าการของประเทศสมาชิกกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 เพื่อรับฟังรายงานเกี่ยวกับพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค ผลการดำเนินงานของกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยมีประเด็นที่ได้หารือ ได้แก่ การปรับบทบาทของธนาคารโลก โดยกำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจนและเหมาะสมในการช่วยเหลือประเทศสมาชิก การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากทั่วโลก โดยใช้ความเชี่ยวชาญและความรู้ของธนาคารโลกให้สอดรับกับความต้องการของประเทศสมาชิก (Global Practice) เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ 2 ประการ (Twin Goals) ของธนาคารโลกในการขจัดความยากจนและสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน และบทบาทของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเกี่ยวกับการทำหน้าที่สอดส่องดูแลเศรษฐกิจ (Surveillance) ซึ่งพบว่า เศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังประสบปัจจัยความเสี่ยงระดับภูมิภาคและระดับประเทศ รวมถึง ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการไหลออกของเงินทุนจากประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้เสนอแนวนโยบายที่จะรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ นโยบายการคลังที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และนโยบายสถาบันการเงินที่กำกับดูแลการให้สินเชื่อและจัดการเงินทุนในรูปแบบต่างๆ ให้มีความมั่นคง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง 3 แห่ง โดยได้ชี้แจงถึงนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และนโยบายในการเตรียมวางรากฐานให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ยั่งยืนในระยะยาว เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิรูปภาษีให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวได้ยืนยันว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน แต่เศรษฐกิจไทยยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และฐานะการคลังของไทยที่เข้มแข็ง