ลีสซิ่งกสิกรไทย ชี้ยอดสินเชื่อเช่าซื้อทั้งปีอาจโต 0%

28 Oct 2014
ตลาดรถยนต์ไทยซบเซาต่อเนื่อง สินเชื่อลีสซิ่งรถยนต์ยังชะลอ หวังงานการเปิดตัวรถใหม่ งานมอเตอร์ เอ็กซ์โป และโปรโมชั่นกระตุ้นยอดปลายปี ลีสซิ่งกสิกรไทย เผยผลประกอบการ 9 เดือนแรก ปล่อยสินเชื่อรถยนต์ใหม่ได้ 43,735 ล้านบาท กำไร 332 ล้านบาท คาดยอดสินเชื่อทั้งปีโต 0%

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2557 ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยโครงการรถคันแรกที่ทำให้เกิดแรงซื้อล่วงหน้าจำนวนมาก และยังส่งผลกระทบทำให้ตลาดรถยนต์มือสองมีราคาต่ำลง โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดเล็กและขนาดกลางที่จับกลุ่มลูกค้าเดียวกับผู้ซื้อในโครงการรถคันแรก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่เดิม ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน ในขณะที่รายได้ที่ลดลงในกลุ่มเกษตรกรที่เผชิญกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ โดยเฉพาะข้าวและยางพารา จึงส่งผลต่อยอดขายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ประกอบกับสถาบันการเงินเองก็เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเพื่อลดปัญหาหนี้เสีย จึงกดดันให้สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศยังคงอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี และมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวต่อไปจนถึงสิ้นปี 2557 แต่ระดับการชะลอตัวจะบรรเทาลงเรื่อยๆ โดยมีโอกาสที่เดือนสิงหาคมและกันยายนนี้น่าจะเป็นเดือนที่ยอดขายอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดของปีแล้ว

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 2557 ของบริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด สามารถปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์ใหม่ได้ 43,735 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 21.53 % แบ่งเป็นสินเชื่อใหม่เช่าซื้อและลีสซิ่ง 24,248 ล้านบาท ลดลง 17.34% และสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ 19,487 ล้านบาท ลดลง 26.18% สำหรับยอดสินเชื่อคงค้าง (Outstanding Loan) มียอดรวม 88,009 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.38% และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 1.12% ส่งผลให้บริษัทมีกำไร 332 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.17 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงปลายปีนี้ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เตรียมออกแคมเปญพิเศษสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์กสิกรไทย รถใหม่ป้ายแดง และสินเชื่อรถช่วยได้กสิกรไทย ในงาน มอเตอร์เอ็กซ์โป 2014 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึงวัน 10 ธันวาคม 2557 โดยเป็นพันธมิตรทางการเงินและออกบูธในงาน พร้อมมอบอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ในภาวะหดตัวให้ฟื้นขึ้นมาได้ โดยคาดว่าสิ้นปีนี้ยอดสินเชื่อจะเติบโตที่ 0-1%

นายสุรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินในซื้อรถยนต์ใหม่ในขณะนี้คือ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องกำลังซื้อ ความกังวลต่อความสามารถในการชำระ ภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะการสร้างงานและการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เริ่มมีการพัฒนาเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ AEC น่าจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคมากขึ้น ย่อมทำให้ความต้องการรถยนต์ใหม่ประเภทต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับยอดจำหน่ายรถยนต์ในเดือนกันยายนปี 57 มียอดขาย 68,843 คัน เพิ่มจากเดือนก่อนหน้า 0.01% ทำให้ภาพรวมยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 9 เดือนแรก มียอดจำหน่ายที่ 648,116 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 37.3% โดยปัจจัยหลักมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่เดิม ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และรายได้ที่ลดลง ขณะที่สถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อก็เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อลดปัญหาหนี้เสีย ซึ่งส่งผลให้ตลาดรถยนต์ในประเทศยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวไปจนถึงสิ้นปี โดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศในปี 2557 จะมียอดจำหน่ายอยู่ที่ 860,000-920,000 คัน หรือลดลงจากปีที่แล้ว 31-35% จากยอดจำหน่ายรถยนต์ในปี 2556 ที่มียอดขาย 1,330,680 คัน ส่วนภาพรวมตลาดสินเชื่อรถแลกเงินหรือรีไฟแนนซ์ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นขยายตัวประมาณ 16.9% เมื่อเทียบกับการขยายตัวที่ชะลอลงสู่ระดับ 12.5% ในปี 2556 และคาดว่าในปี 2557 ตลาดสินเชื่อรถแลกเงินหรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถน่าจะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 14-17%

ด้านยอดขายรถจักรยานยนต์ พบว่า ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ มียอดจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 38,431 คัน หรือเฉลี่ยต่อเดือน 4,270 คัน ในส่วนของปี 2556 มียอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ จำนวน 69,787 คัน หรือเฉลี่ยต่อเดือน 5,816 คัน เนื่องจากค่ายรถจักรยานยนต์มีการเพิ่มการทำตลาดในรุ่น 126-150 ซีซีมากขึ้น ซึ่งมีราคาต่ำและทำตลาดได้ง่ายกว่า อีกทั้งผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงสถาบันทางการเงินที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น