“มะลิเฉลิมนรินทร์” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jasminum bhumibolianum Chalermglin และชื่อภาษาไทย คือ มะลิเฉลิมนรินทร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555 มีความหมายว่า มะลิเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน
“มะลิเฉลิมนรินทร์” ค้นพบโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียว (endemic) ของประเทศไทย ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ (rare & endangered) จัดอยู่ในสกุลมะลิ (Genus Jasminum) วงศ์มะลิ (Family Oleaceae) มีลักษณะเด่นแตกต่างจากมะลิพื้นเมืองและมะลิชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่ทั่วโลกคือ มีกลีบเลี้ยง แหลม หนาแข็งขนาดใหญ่จำนวน 4-5 ซี่ รองรับดอกสีขาวที่มีกลีบดอก 6-8 กลีบและมีกระเปาะเกสรเพศผู้สีเหลืองเด่นชัด กระจายพันธุ์อยู่บนเนินเขาหินปูนเตี้ยๆ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 715 เมตร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
ลักษณะโดยทั่วไป เป็นไม้เถาเลื้อยได้ไกล 1-2 เมตร กิ่งยอดเรียวเล็ก เรียบ ใบรูปรีหรือรูปหอกกว้าง โคนใบเว้า ปลายใบเป็นตุ่มแหลม ใบหนา เหนียวสีเขียวเข้มเป็นมัน กว้าง 3-3.5 เซนติเมตร ยาว 6-8 เซนติเมตร เส้นแขนงใบมี 3-4 คู่เห็นไม่เด่นชัด ก้านใบยาว 4-5 มิลลิเมตร มีใบประดับเรียวยาว 5-6 มิลลิเมตร ช่อดอกออกที่ปลายกิ่งยอดหรือปลายกิ่งข้าง มีดอกย่อย 7-13 ดอก กลีบเลี้ยง แหลม หนาแข็งขนาดใหญ่จำนวน 4-5 ซี่ ยาว 3-4 มิลลิเมตร หลอดกลีบดอกยาว 12-15 มิลลิเมตร ตอนบนมีกระเปาะเกสรเพศผู้สีเหลืองเด่นชัด กลีบดอกสีขาว 6-8 กลีบ แต่ละกลีบกว้าง 3-4 มิลลิเมตร ยาว 10-12.5 มิลลิเมตร ปลายกลีบเป็นติ่งแหลมสั้น ผลกลมรี 1-2 ผล กว้าง 9 มิลลิเมตร ยาว 11 มิลลิเมตร เมื่อสุกสีดำ เป็นมะลิที่เจริญเติบโตช้าเมื่อเทียบกับมะลิชนิดอื่นๆ ออกดอกบานในช่วงเดือน กรกฎาคมถึงกันยายน ส่งกลิ่นหอมแรง มีผลแก่เดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit