ไทยประกาศศักยภาพและย้ำถึงโอกาสทองของการได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ประเทศเจ้าภาพ จัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านข้าว ครั้งที่ 4

21 Oct 2014
การประชุมวิชาการนานาชาติด้านข้าว ( International Rice Congress, IRC) กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 4 ปี โดย สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute, IRRI) หน่วยงานวิจัยและพัฒนาข้าวระดับโลก ซึ่งตั้งอยู่ที่ ประเทศประเทศฟิลิปปินส์ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน การจัดการประชุมดังกล่าวเพื่อเป็นเวทีในการประชุมหารือด้าน ทิศทางนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านข้าว และการนำเสนอความก้าวหน้าด้านการวิจัยในระดับนานาชาติ

การประชุมวิชาการนานาชาติด้านข้าวที่ผ่านมาซึ่งเป็น ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งการจัดประชุม ครั้งที่ 4 ได้มีหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้เสนอขอรับการพิจารณาเป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดงาน ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกของทาง (International Rice Research Institute, IRRI) ได้เลือกประเทศไทยให้เป็นประเทศเจ้าภาพร่วมในจัดงาน (The 4th International Rice Congress, IRC 2014)

“Rice for The World” ---- ข้าวเพื่อโลก ด้วยเหตุผลที่ประเทศไทยมีความพร้อมและศักยภาพของตลอดจนการมุ่งเน้นและให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาข้าวในระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนความพร้อมในเชิงภูมิศาสตร์และศักยภาพทางการแข่งขันเพื่อรักษาให้ประเทศไทยยังคงครองลำดับที่ 1 ของประเทศผู้ส่งออกข้าวของโลก อีกทั้งในปี 2557 นี้เป็นปีที่การวิจัยและพัฒนาข้าวในประเทศไทย จะครบรอบ 100 ปี โดยมีหน่วยงานหลักของประเทศไทยที่ร่วมมือผลักดัน ให้มีการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านข้าว ครั้งที่ 4 นี้ในประเทศไทย คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมการข้าว สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ดร.วิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้กำหนดจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านข้าว ครั้งที่ 4 (4th International Rice Congress : IRC 2014) ร่วมกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2557 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อหลักของการจัดงาน คือ “Rice for The World” ---- ข้าวเพื่อโลก เนื่องจากข้าวคือความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญของโลก ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องวิจัยและพัฒนาทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้าวตลอดห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องปริมาณและ คุณภาพของผลผลิต ประสิทธิภาพการผลิจและการจัดการเรื่องของการเก็บรักษา การค้าและการตลาด และการขนส่ง

“การประชุมวิชาการนานาชาติด้านข้าวนี้ จึงนับเป็นการประชุมของหน่วยงานด้านข้าวของประเทศต่างๆ ทั่วโลกและเป็นเวทีในการหารือประเด็นหลักทั้งในด้านนโยบายและการพัฒนางานวิจัย และ การสร้างและส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและการค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก

จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประเทศเจ้าภาพร่วมในการจัดการประชุมวิชาการครั้งนี้ และเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพและเอกลักษณ์ของข้าวไทย ตั้งแต่การผลิตไปสู่ผู้บริโภคตามมาตรฐานสากล และความพร้อมในการเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวหลักในตลาดข้าวโลก อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องกับข้าวในประเทศไทย ทั้ง นักวิชาการ นักวิจัย และผู้ดำเนินธุรกิจก้านข้าวได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และทราบถึงความก้าวหน้าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้าวในมิติต่างๆ ในระดับนานาชาติ

รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้ที่จะเดินทางมาร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติด้านข้าว ครั้งนี้ประมาณ 1,500 คน ทั้งจากภาครัฐ หน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา ตัวแทนองค์กรด้านการเกษตร ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านข้าว ผู้แทนจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ และองค์การระหว่างประเทศจากประเทศต่างๆ ในทุกทวีปทั่วโลก การเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ จึงถือเป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมือด้านข้าวทั้งด้านวิชาการ สังคมและเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและภูมิภาคเอเชีย และยังได้รู้ถึงความเคลื่อนไหวของการวิจัยด้านข้าวจากนักวิจัยที่มีความโดดเด่นในระดับโลก เพื่อให้นักวิจัยไทยได้เปิดมุมมองใหม่ๆ และนำมาพัฒนาต่อยอดก่อให้เกิดประโยชน์กับวงการข้าวไทยต่อไปในอนาคตได้เป็นอย่างดี และคาดหวังว่าการจัดประชุมระดับนานาชาติเช่นนี้ จะเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของประเทศไทยในการใช้โอกาสที่มีในการแสดงศักยภาพข้าวไทยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก เพิ่มความเชื่อมั่นและตอกย้ำในฐานะการเป็นผู้นำการส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกต่อไป

ภายในงานแถลงข่าวการประชุมวิชาการนานาชาติด้านข้าว ครั้งที่ 4 นี้ ยังได้รับเกียรติจาก นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ทิศทางในการพัฒนา เพื่ออนาคตของข้าวไทย” นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ “Thai’s Rice for the World : IRC2014” โดยได้รับเกียรติจากดร.วิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว รองศาสตราจารย์ ดร. พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร และศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมพูดคุยในเวทีเสวนาเกี่ยวกับทิศทางในการพัฒนาข้าวไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ กล่าวว่า “เรามีความได้เปรียบทั้งในด้านภูมิศาสตร์ วิทยาการและทรัพยากรบุคคล ตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะเร่งรัดพัฒนาและศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาด้านข้าวเพื่อยังคงให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญในลำดับต้นของตลาดข้าวโลก อีกทั้งจะเป็นโอกาสให้นักวิชาการของไทยได้พัฒนาความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการวิจัยและนวัตกรรมวิจัยที่เกี่ยวกับข้าวกับนักวิชาการจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เข้าร่วมประชุมอีกด้วย โดยการจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านข้าวในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ หน่วยงานหรือองค์กรวิจัย และภาคเอกชน

สำหรับการจัดประชุมข้าวนานาชาติครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 กิจกรรมได้แก่

1.การประชุมสภาความร่วมมือการวิจัยข้าวแห่งเอเชีย ครั้งที่ 29 โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยด้านข้าวในเอเชียกว่า 16 ประเทศเข้าร่วมการประชุม

2.การประชุมวิชาการข้าวนานาชาติครั้งที่ 4 ซึ่งจะมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการเนื้อหาทั้งด้านความหลากหลายทางพันธุ์ข้าว การปรับปรุงพันธุ์ เทคโนโลยีชีวภาพ การเพิ่มมูลค่าข้าว เป็นต้น ซึ่งมีเรื่องที่นำเสนอภายในงานกว่า 800 เรื่อง

3. กิจกรรมศึกษาดูงานภาคสนาม ณ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีที่กำลังจะมีอายุครบ 100 ปีในปี 2558 เพื่อเยี่ยมชมศูนย์วิจัยข้าวที่เก่าแก่ที่สุด โรงสีข้าวที่ใหญ่ที่สุด โรงงานแปรรูปข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์คุณภาพข้าวและแนวทางการเพิ่มมูลค่าข้าวของไทย ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2557

ในส่วนของการจัดแสดงนิทรรศการ ประเทศไทยได้จัดแสดง 2 ส่วน คือ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้นำโครงการในพระราชดำริและพระราชดำริที่เกี่ยวกับข้าว รวมถึงพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่แสดงให้เห็นว่าข้าวไม่ใช่เพียงเป็นแค่พืชอาหารเท่านั้น แต่ยังผูกพันกับวัฒนธรรม จิตวิญญาณ ประเพณีของคนไทยที่มีมาอย่างยาวนาน ส่วนนิทรรศการด้านนวัตกรรมสินค้าและเทคโนโลยีข้าวจะเน้นไปที่ความหลากหลายของข้าวที่ไม่ใช่เพียงเพื่อการบริโภคเท่านั้น ยังมีการพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเครื่องสำอางแป้งเด็ก แป้งตลับ ด้านธัญโอสถเช่น การใช้แป้งข้าวเป็นส่วนผสมในเจลยาชาในการทำฟัน ส่วนเทคโนโลยีการผลิตข้าวนั้นก็จะมีการจัดแสดงหุ่นยนต์หยอดข้าวอัตโนมัติ เครื่องให้ความร้อนแบบไดอิเลกตริกสำหรับฆ่ามอดข้าว เครื่องสีข้าวกล้องขนาดเล็กเพื่อชุมชน ซึ่งจะเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์คุณภาพข้าวและแนวทางการเพิ่มมูลค่าข้าวของไทย