นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมครึ่งทางของ “มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 19” ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันพุธที่ 15 ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2557 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า พิจารณาจากสภาวะเศรษฐกิจซบเซาในช่วงปีนี้ ถือว่าครึ่งทางของงานมหกรรมหนังสือฯครั้งนี้ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายในแง่ของผู้ร่วมงาน เพราะจาก 6 วันที่ผ่านมาผู้เข้าชมงานอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านคนแล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและเยาวชน รองลงมาคือวัยทำงาน แม้ว่ายอดซื้อหนังสือต่อคนจะลดลงบ้างก็ตาม
“สำนักพิมพ์ต่างๆมีหนังสือปกใหม่เยอะกว่าปกติ ปกติจะราว 300 ปก แต่งานครั้งนี้ออกกันมาราว 500 ปก และต่างก็งัดกลยุทธ์ทางการตลาดมาแข่งขันกันอย่างจริงจังเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้อ่านให้มากที่สุด อาทิ การออกหนังสือเป็นบ็อกเซ็ท ทั้งพ็อกเก็ตบุ๊คแนวไลฟ์สไตล์ นิยายแนวต่างๆ และวรรณกรรมเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงมีการใช้คูปองลดราคาในสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เพื่อดึงดูดใจให้เพิ่มการซื้อถึงระดับที่สำนักพิมพ์กำหนด เพื่อที่จะได้ลดราคามากกว่าเดิม เช่น ซื้อครบ2,000 บาท จะได้รับส่วนลดเพิ่มอีก 200 บาท ซึ่งแม้จะทำให้สำนักพิมพ์ได้กำไรลดลง แต่ก็ช่วยเพิ่มยอดการซื้อได้
อย่างไรก็ตาม ยอดการซื้อหนังสือต่อคนลดลงอย่างค่อนข้างเห็นได้ชัด จากที่เคยซื้อกันคนละประมาณ 5-10 เล่ม เหลือประมาณคนละ 3-6 เล่ม เพราะมีการไตร่ตรองมากขึ้น และจะซื้อเฉพาะเล่มที่ตัวเองต้องการจริงๆ”
ส่วนเทรนด์หนังสือที่มาแรงในครั้งนี้ คือหนังสือที่นักเขียนต่อยอดผลงานของตัวเองจากโลกออนไลน์ อาทิ เว็บไซต์ บล็อก แฟนเพจต่างๆ เป็นต้น โดยได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก และหลายเล่มมีการพิมพ์ซ้ำเพิ่มเติมระหว่างงาน รวมถึงหนังสือแนวพัฒนาตัวเอง ทั้งในด้านของการเพิ่มพูนความสามารถและวิธีสร้างรายได้เพิ่มเติม ที่วัยรุ่นและวัยทำงานให้ความสนใจอย่างสูง
“หนังสือที่นักเขียนมาจากออนไลน์จะไม่ใช่แนวนิยายเป็นส่วนใหญ่อีกแล้ว เพราะที่มาแรงในงานครั้งนี้จะเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คที่เกี่ยวกับความรู้ ความคิดในด้านต่างๆ รวมถึงหนังสือภาพ คาดว่าอาจเพราะนักเขียนมีฐานของแฟนคลับจึงทำให้ยอดขายหนังสือแนวนี้ไปได้ดี และการันตียอดขายได้ในระดับหนึ่ง โดยหนังสือส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนใหม่ขึ้นมา หรือจัดคอนเซ็ปต์เล่มอย่างชัดเจน
ในส่วนของหนังสือแนวพัฒนาตัวเองนั้น กระแสเกิดขึ้นจากสภาพสังคมที่ผู้คนกำลังสับสนกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมภายนอก จึงตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีที่สุด รวมถึงสร้างรายได้เพิ่มทั้งจากอาชีพและการลงทุน
ที่น่าสนใจคืองานมหกรรมหนังสือฯครั้งนี้ หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนในช่วงปฐมวัยได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะแสดงว่าผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการปลูกฝังการอ่านแก่เด็กไทยตั้งแต่ยังเยาว์มากขึ้น” นายจรัญกล่าวนายจรัญยังกล่าวอีกด้วยว่า ตนขอเสนอรัฐบาลให้ทำโครงการ “คูปองปัญญา” แจกคูปองให้ประชาชนคนละ 200 บาท เพื่อซื้อหนังสือที่ไหนก็ได้ เพราะมีคนไทยอีกมากที่อยากอ่านหนังสือ แต่ไม่สามารถซื้อได้ โดยนอกจากจะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมหนังสือแล้วนั้น ยังเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องสร้างคนคุณภาพให้เกิดขึ้นในสังคมด้วย และการลงทุนด้วยหนังสือถือเป็นการลงทุนที่ถูกมากเมื่อเทียบกับการลงทุนอย่างอื่น และยังสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้สังคมได้จริงๆ
“ไม่ได้เรียกร้องรัฐบาลให้รัฐบาลมาช่วยเหลืออะไร แค่ขอให้ชายตามองอุตสาหกรรมหนังสือบ้าง ที่ผ่านมารัฐมุ่งเน้นช่วยเหลือธุรกิจภาคอื่นตลอดเวลา ซึ่งไม่สามารถสร้างคนคุณภาพให้สังคมได้จริงๆ แจกคูปองอื่นๆยังแจกได้ นี่คือการแจกปัญญา หากเป็นไปได้ขอเสนอภาครัฐให้จัดงบการอ่านเป็นหนึ่งในงบประมาณรายจ่ายประจำปีในแต่ละจังหวัด เพื่อให้ได้ทำกิจกรรมด้านการอ่าน เช่นเดียวกับงบด้านวัฒนธรรม กีฬา และยาเสพติด
การที่มีคนมางานหนังสือมากขนาดนี้ น่าจะเป็นตัวเลขที่ทำให้รัฐบาลมองบ้างว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร ประชาชนต้องการอะไรจากประเทศนี้ และน่าจะเป็นความเห็นหนึ่งที่ส่งถึงรัฐบาลได้ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเหลียวมามองอุตสาหกรรมหนังสือบ้าง เพราะรัฐมีหน้าที่สร้างคนให้เป็นคนคุณภาพ” นายจรัญกล่าว