นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังจากได้รับนโยบายจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในด้านการแก้ปัญหาปัจจัยการผลิตของเกษตรกรที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน โดยกำหนดมาตรการอย่างเข้มงวดในการควบคุม กำกับ ดูแลให้ผู้ประกอบการผลิต จำหน่าย และนำเข้าปุ๋ย วัตถุอันตราย และเมล็ดพันธ์ต่างๆ ให้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการตรวจสอบ ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกฎหมาย การให้บริการออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนเพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ และแก้ไขปัญหาของเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรลงพื้นที่สำรวจตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเกษตรกรว่ามีพ่อค้านำปุ๋ยปลอมออกเร่ขายในพื้นที่ จ.สระแก้ว และอีกหลายเขตพื้นที่ในภาคอีสาน จึงได้มีการประสานไปยังตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) เข้าตรวจสอบและจับกุมได้ทั้งผู้ต้องหาและของกลางจำนวนมาก และได้ตรวจจับสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงและวัชพืช ในเขตพื้นที่ จ.นครปฐม ยึดของกลางรวม 33 รายการ มูลค่ากว่า 15 ล้านบาท พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาตามความผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังได้มีการสำรวจร้านค้าที่จำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีใบอนุญาต 35,733 ร้านค้า จากร้านค้าทั่วประเทศ พบร้านค้าที่กระทำความผิดและได้กล่าวโทษร้องทุกข์ดำเนินคดีแล้ว 114 ร้านค้า ขณะที่ในด้านแหล่งผลิตปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ทั้งผู้ประกอบการวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ขออนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร 111 โรงงาน ได้เข้าตรวจสอบแล้ว 67 โรงงาน พบผู้กระทำความผิดและได้ร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีแล้ว 12 โรงงาน ส่วนผู้ประกอบการผลิตปุ๋ยที่ขออนุญาต 1,680 ราย เข้าตรวจสอบแล้ว 434 ราย พบผู้กระทำความผิดและดำเนินคดีแล้ว 116 ราย และผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่ได้รับอนุญาต 926 ราย ตรวจสอบแล้ว 748 ราย พบผู้กระทำความผิดและดำเนินคดีแล้ว 34 ราย พร้อมทั้งยังเพิ่มการตรวจสอบและสุ่มตรวจตัวอย่างปัจจัยการผลิตจากแหล่งผลิตและสถานที่จำหน่าย โดยตั้งแต่ดำเนินการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พบว่ามีการผลิตที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอยู่บ้างแม้จะเป็นเพียงสัดส่วนที่เล็กน้อย ได้แก่ ปุ๋ย 167 ตัวอย่าง พบปุ๋ยไม่ได้มาตรฐาน 16.17 % วัตถุอันตราย 93 ตัวอย่าง พบว่าผิดมาตรฐานคิดเป็น 4.30% แต่กรมวิชาการเกษตรจะคุมเข้มและรัดกุมในการเข้าตรวจสอบ เพื่อไม่ให้พบการผลิตปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานเข้าสู่ตลาดและไปยังเกษตรกร
นายชวลิต กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการคุมเข้มเรื่องปัจจัยการผลิตแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ยังเน้นนโยบายแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร เรื่องการลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมีเพิ่มการใช้สารอินทรีย์ทดแทนนั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายกรมวิชาการเกษตรศึกษาเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศในฟาร์มผลิตพืชอินทรีย์ และปัจจุบันได้ขยายผลเป็นต้นแบบเครือข่ายการผลิตปุ๋ยหมักระบบเติมอากาศสู่แปลงเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร 11 แห่ง รวม 10 จังหวัด อาทิ จ.เชียงใหม่, จ.กำแพงเพชร, จ.อุบลราชธานี, จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น สามารถผลิตปุ๋ยหมักได้แล้ว 220 ตัน และมีเกษตรกรเข้าศึกษาดูงานรวม 1,780 คน
นอกจากนี้ได้ส่งมอบชุดตรวจสอบอินทรียวัตถุในปุ๋ยอินทรีย์อย่างง่าย (Test kit) ให้สารวัตรเกษตรของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรส่วนภูมิภาคทั้ง 8 เขต ใช้ตรวจสอบปริมาณอินทรียวัตถุในปุ๋ยอินทรีย์ ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเฝ้าระวังเชิงรุกป้องกันผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ปลอม คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรอีกด้วย.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit