นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การคัดแยกผู้เสียหายเป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญ ทั้งต่อการให้ความคุ้มครองผู้เสียหายและกระบวนยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการต่อไปอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้รับการคัดแยกและได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล การคัดแยกผู้เสียหายจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือ ซึ่งหากการคัดแยกผู้เสียหายผิดพลาดจะนำไปสู่การเพิกเฉยต่อสิทธิของบุคคล โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส
ผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ที่ถูกเนรเทศ ซึ่งไม่มีเอกสารหรือหลักฐานแสดงตัว ดังนั้นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จึงควรได้รับความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายเลิศปัญญา กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จึงได้จัด "การประชุมเชิงปฏิบัติการต่อเนื่องเพื่อกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติร่วมกันระหว่างประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์"ขึ้น ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๗
เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการคัดแยกผู้เสียหายระหว่างประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทบทวนร่างแนวทางการปฏิบัติและแบบสอบถามในการคัดแยกผู้เสียหายระหว่างประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พัฒนาแนวทางปฏิบัติร่วมกันระหว่างประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จากร่างแนวทางปฏิบัติและแบบสอบถามที่ใช้ในการคัดแยกผู้เสียหาย ซึ่งจัดทำขึ้นในปี ๒๕๕๕ ณ กรุงเทพฯ และผลักดันให้เกิดข้อตกลงร่วมกันในการนำแนวทางปฏิบัติและแบบสอบถามที่เห็นชอบร่วมกันไปใช้ในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรมต่อไป รวมถึงเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการต่อต้านการค้ามนุษย์ และสนับสนุนให้เกิดการหารือและการมีส่วนร่วมในระดับนโยบายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่การลดภาระต้นทุนทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นในระเบียงเศรษฐกิจในลักษณะของการดำเนินงานเชิงรุกต่อไป
"การประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งสิ้น ๘๐ คน ประกอบด้วย ผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบพัฒนาแนวปฏิบัติในการคัดแยกผู้เสียหายในประเทศ มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ตามกฎหมาย หรือเป็นหน่วยงานที่นำแนวปฏิบัติไปใช้ รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือผู้เสียหาย ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งมีส่วนร่วมในการคัดแยกและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จากประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ๕ ประเทศ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม" นายเลิศปัญญา กล่าวตอนท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit