คนอีสานเฉยๆ กับนายกฯคนใหม่ ประเมินผลงาน คสช. รอบ 3 เดือน ดีขึ้น วอนเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพ

27 Aug 2014
อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “คนอีสานประเมินการเมืองไทย” ผลสำรวจพบว่า คนอีสานประเมินการทำงานของ คสช. ครบ 3 เดือนได้เกรดเฉลี่ย 2.78 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเกรดเฉลี่ย 2.50 ของผลงานรอบ 1 เดือน เกินครึ่งรู้สึกเฉยๆ กับนายกฯคนใหม่ อยากเห็นครม. ที่มีสัดส่วนทหารและพลเรือนใกล้เคียงกันหรือไม่ควรมีทหารมากกว่าพลเรือน วอนแก้ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าเกษตร เชื่อการปฏิรูปพลังงาน ยุค คสช. ประชาชนจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย

ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานเกี่ยวกับการประเมินผลการทำงานของ คสช. และสถานการณ์การเมืองไทย โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,060 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

เมื่อสอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานว่า ท่านประเมินการทำงานของ คสช. ในการเข้ามาแก้วิกฤตบ้านเมืองในรอบ 3 เดือนอย่างไร พบว่าอันดับหนึ่ง ร้อยละ 53.3 ประเมินว่าการทำงานของ คสช.อยู่ในระดับดี รองลงมา ร้อยละ 27.5 ประเมินว่าพอใช้ ร้อยละ 15.0 ประเมินว่าดีมาก ร้อยละ 3.3 ประเมินว่าควรปรับปรุง และมีเพียงร้อยละ 0.9 ประเมินไม่ผ่านหรือสอบตก ซึ่งประมวลเป็นเกรดเฉลี่ยได้ 2.78 เพิ่มขึ้นมากกว่าผลงานในรอบ 1 เดือนซึ่งได้เกรดเฉลี่ย 2.50

เมื่อสอบถามถึงท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อ สนช. ลงมติเห็นชอบให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 53.8 รู้สึกเฉย ๆ รองลงมาร้อยละ 40.6 รู้สึกพอใจ และอีกร้อยละ 5.6 รู้สึกไม่พอใจ

ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ควรมีสัดส่วนระหว่างทหาร (รวมอดีตทหาร) และพลเรือนอย่างไรจึงจะเหมาะสม พบว่าอันดับหนึ่งกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 52.3 ระบุว่าสัดส่วนพลเรือนและทหารควรใกล้เคียงกัน รองลงมาร้อยละ 38.6 เห็นว่าสัดส่วนพลเรือนควรมากกว่าทหาร และมีเพียงร้อยละ 9.1 เห็นว่าสัดส่วนทหารควรมากกว่าพลเรือน

นอกจากนี้อีสานโพลยังสอบถามด้วยคำถามปลายเปิดต่อว่า ท่านอยากให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่แก้ปัญหาอะไรให้จังหวัดของท่านมากที่สุด พบว่าส่วนใหญ่ต้องการให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องเป็นหลักตามมาด้วยปัญหาทางสังคม เมื่อแยกย่อยรายละเอียด พบว่าอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อยากให้แก้ปัญหาค่าครองชีพจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่แพง รองลงมา ร้อยละ 10.3 ปัญหาราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ตามมาด้วย ร้อยละ 9.4 ปัญหาราคาน้ำมันและพลังงานอื่นๆ ร้อยละ 9.4 ปัญหายาเสพติด และร้อยละ 8.8 ปัญหาอาชญากรรม

ท้ายสุด เมื่อถามความคิดเพื่อประเมินว่าการปฏิรูปด้านพลังงานในยุค คสช. จะส่งผลให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้นหรือไม่ พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 55.8 เห็นว่าได้ประโยชน์มากขึ้น รองลงมาร้อยละ 45.7 ไม่แตกต่างจากเดิม และเพียงร้อยละ 1.8 เห็นว่าเสียประโยชน์มากขึ้น

หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจ ซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในผลสำรวจนี้เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 4% ประกอบด้วย เพศชาย ร้อยละ 48.7 เพศหญิง ร้อยละ 51.3 ส่วนใหญ่อายุ 46-55 ปี ร้อยละ 27.6 รองลงมาอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 26.4 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.3 อายุ 56-60 ปี ร้อยละ 8.3 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 7.5 และอายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 4.0

ส่วนระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 38.4 รองลงมาปริญญาตรี ร้อยละ 23.4 มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 15.5 มัธยมปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ 14.7 อนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 4.9 ปริญญาโท/ปริญญาเอก ร้อยละ 3.1 ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 37.9 รองลงมาอาชีพรับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.5 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว/งานอิสระ ร้อยละ 12.7 รับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.5 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 10.9 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 5.1 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 4.1 และอื่นๆ ร้อยละ 2.3

ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ที่ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 38.6 รองลงมามีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 19.7 รายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 15.1 รายได้ 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 14.8 รายได้ 20,001-40,000 ร้อยละ 10.2 และรายได้มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 1.6