“การตั้งคณะทำงานที่จะหารือในรายละเอียดระหว่างสองประเทศนั้น จะเป็นการพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินการในด้านวิชาการ อุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ และงบประมาณดำเนินการ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญที่รัฐบาลโอมานจะต้องจัดเตรียมใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ยินดีจัดส่งผู้เชี่ยวชาญของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรไปถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี รวมถึงเจ้าหน้าที่โอมานสามารถเดินทางมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน นับเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรที่ปฏิบัติงานฝนหลวงของไทยที่จะสามารถพัฒนาทักษะความสามารถในการปฏิบัติงานการทำฝน เทคโนโลยีใหม่ๆ ในสภาวะอากาศที่แตกต่างกับประเทศไทย ปัจจุบันนี้ประเทศไทยได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีฝนหลวงให้แก่จอร์แดน และมองโกเลีย” นายชวลิต กล่าว
นายชวลิต กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากมีการลงนามความร่วมมือดังกล่าวแล้วจะเป็นโอกาสดีในการขยายความร่วมมือด้านวิชาการเกษตร และการค้าระหว่างกันในอนาคต ซึ่งปัจจุบันสินค้าเกษตรไทยสามารถส่งออกไปยังโอมานมีมูลค่าการขยายตัวเพิ่มขึ้น 15% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดงานนิทรรศการส่งเสริมสินค้าเกษตรไทย ณ กรุงมัสกัต ที่ส่งผลให้ชาวโอมานรู้จักสินค้าเกษตรไทยมากขึ้น สินค้าเกษตรไทยที่มีศักยภาพในตลาดโอมาน ได้แก่ ข้าว รวมถึงยางที่โอมานมีการนำเข้ายางของประเทศไทยผ่านประเทศที่สาม จึงได้ขอความร่วมมือจากเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต รัฐสุลต่านโอมานตรวจสอบข้อมูลการนำเข้ายางว่าปัจจุบันได้มีการนำเข้าจากประเทศใด ซึ่งอาจจะเป็นช่องทางการตลาดยางของประเทศไทยได้ในอนาคต