ข้อเรียกร้องนี้มีขึ้นในงาน เสวนาสาธารณะหัวข้อ “ทางออกประมงไทย เมื่อมนุษย์และทะเลถูกกระทำ” โดยผู้แทนจากกรมประมง ภาคเอกชน ทั้งผู้ประกอบการประมง ผู้รับซื้ออาหารทะเล องค์กรพัฒนาเอกชน และประมงพื้นบ้าน ต่างเห็นพ้องว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม เป็นผลพวงมาจากการทำประมงแบบทำลายล้างแทบทั้งสิ้น
“สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งกับทรัพยากรทางทะเลของไทย และแรงงานประมงเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการจัดการทรัพยากรทะเลในปัจจุบัน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่รัฐ บริษัทผู้รับซื้อสัตว์น้ำ และผลิตอาหารทะเลต้องหันมาร่วมมือกับชุมชนออกแบบแผนการบริหารจัดการทะเลไทยที่จะเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย” นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยกล่าว
นายบรรจงเสริมว่า ไม่แปลกใจเลยที่บริษัททั้งหลายมองทะเลเป็นเพียงแหล่งวัตถุดิบอาหาร “กฎหมายประมงที่ล้าสมัยและแนวความคิดของภาครัฐส่งเสริมให้บริษัทเอกชนมองทะเลว่าเป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อการใช้ประโยชน์ เนื่องจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นหนึ่งในระบบการผลิตอาหารที่เติบโตเร็วที่สุด มีมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกราว 150 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ความต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นได้เร่งให้ระบบการผลิตอาหารของโลกขาดความยั่งยืน มีการประมาณว่าเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของสัตว์น้ำผลพลอยได้และสัตว์น้ำขนาดเล็กที่จับได้ ถูกส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตอาหารสำหรับเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ”
ต่อประเด็นปัญหานี้ นายมาโนช รุ่งราตรี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง กล่าวว่า ทางกรมฯ จะเร่งผลักดันการประกาศยกเลิกเครื่องมือประมงทำลายล้าง ควบคู่ไปกับการบังคับใช้อวนตาห่างขนาด 4 ซมเป็นอย่างน้อย เพื่อฟื้นฟูประชากรสัตว์น้ำโดยเฉพาะสัตว์น้ำวัยอ่อน หลังจากมีผลการทดลองชัดเจนว่า 27% ของปลาตัวเล็กจะมีโอกาสรอด โดยทางกรมได้มีการพูดคุยกับเรือประมงเรื่องนี้เพื่อหาข้อตกลง และจะส่งเรื่องนี้ไปที่ระดับจังหวัด เรื่องผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด
ส่วนที่นายสวัสดิ์ คำสุข รองกรรมการผู้จัดการ ด้านควบคุมและประกันคุณภาพบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (ซีพี) อ้างว่าจะแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างจริงจัง โดยเปิดแผนการลงบันทึกการถ่ายรูป การลงทะเบียนเรือให้มีความชัดเจน พร้อมระบุว่า ภายในปี 2560 จะรับซื้อปลาเป็ดที่มีความยั่งยืน สามารถพิสูจน์ที่มาที่ไปได้ชัดเจนว่าไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ได้มาจากแรงงานทาสเท่านั้น โดยยังหมายรวมถึงการใช้ตาอวนที่มีขนาดกว้าง 4 ชม. ขึ้นไป อีกทั้งบริษัทกล่าวว่าจะเปิดเวทีพูดคุยกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านโดยตรง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ข้อเสนอเหล่านี้ได้รับความเห็นพ้องจากผู้ร่วมเสวนาเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ในเชิงปฏิบัตินั้น ต้องมีการสนับสนุนและผลักดันอย่างเข้มแข็งจากภาครัฐมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานฝ่ายรณรงค์และนโยบาย อ็อกแฟมประเทศไทย กล่าวว่า “ภาคประชาสังคมและประชาชนต้องตระหนักถึงความสำคัญในปัญหานี้ร่วมกัน และต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อพัฒนากฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายที่ดีขึ้น และพัฒนามาตรฐานการรับซื้อวัตถุดิบของภาคธุรกิจ โดยกระบวนการต่างๆ ต้องยืนอยู่บนหลักการการมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผย โปร่งใส และส่งเสริมสิทธิชุมชนประมงชายฝั่ง”
เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่ประมงพาณิชย์ได้ทำประมงโดยปราศจากการควบคุมเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมและที่เกี่ยวข้องกับประมงที่อ่อนแอ จนทำให้ขณะนี้สัตว์น้ำแทบไม่เหลือ ผลการวิจัยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเรื่อง “การจัดทำแผนที่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิตปลาป่นในจังหวัดสงขลาเพื่อสนับสนุนการหารือปรับปรุงมาตรฐานความยั่งยืน” ที่จัดทำโดยบริษัทป่าสาละ และอ็อกแฟม พบว่าผู้ผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นลูกค้าปลาป่นรายหลักจะเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดซื้อวัตถุดิบที่ยั่งยืนมากขึ้นเพราะแรงกดดันของผู้ซื้ออาหารแช่แข็งโดยเฉพาะในทวีปยุโรป แต่จำนวนผู้ผลิตที่หันมาใส่ใจก็ยังเป็นจำนวนน้อยมากคือไม่ถึง 10 ราย
จากการสำรวจอุตสาหกรรมปลาป่นในจังหวัดสงขลา ทีมวิจัยพบว่า ผู้ผลิตอาหารสัตว์โดยรวมยังไม่สนใจวิธีในการจับปลามาเป็นวัตถุดิบผลิตปลาป่น ปลาป่นที่ผลิตจากปลาเป็ดที่ถูกจับมาด้วยอวนลากและอวนรุนที่ขูดพื้นทะเลและทำลายระบบนิเวศน์ต่างๆ จึงขายได้ ทำให้เรือประมงพาณิชย์บางส่วนยังคงจับปลาโดยใช้อุปกรณ์ทำลายล้างเช่น อวนรุนอวนลากต่อไป จังหวัดสงขลาเป็นผู้ผลิตปลาป่นรายใหญ่อันดับ 1 ของภาคใต้และอันดับ 2 ของประเทศ ในจำนวนสัตว์น้ำทั้งหมดที่ชาวประมงจับได้ มีปลาเป็ดเป็นสัดส่วนมากถึง 57% โดยส่วนใหญ่เป็นปลาเศรษฐกิจที่ไม่โตเต็มที่ ส่งผลให้ความสมดุลของบระบบนิเวศน์และห่วงโซ่อาหารในทะเลเสียไปอย่างรุนแรงเช่นในปัจจุบัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit