กรมควบคุมโรคให้ความรู้เรื่องโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา รู้ เข้าใจโรคฯ ไม่ตระหนก แต่..ตระหนัก

08 Sep 2014
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องการสื่อสารถึงประชาชนเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ สามารถรับข้อมูลข่าวสารต่างๆเกี่ยวกับโรคฯอย่างมีสติ ตระหนักแต่ไม่ตื่นตระหนก

ถึงแม้โรคติเชื้อไวรัสอีโบลาจะเป็นโรคติดต่ออันตราย แต่พื้นที่การระบาดของโรคยังคงจำกัดอยู่ในทวีปแอฟริกาทางซีกตะวันตก และจนถึงวันนี้ยังไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศไทย อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจและไม่ได้ประมาท ได้มีการประชุมวอร์รูมติดตามสถานการณ์ของโรคอีโบลาอย่างใกล้ชิดทุกวันและได้เตรียมพร้อมเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาอย่างเต็มที่ด้วย 5 มาตรการสำคัญคือ...

1.การเฝ้าระวังและควบคุมโรค ทั้งในคนและสัตว์ ที่ด่านเข้าออกระหว่างประเทศทั้งด่านทางบก เรือ และอากาศ เพื่อค้นหาผู้ที่อาจติดเชื้อที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงให้ได้ไวที่สุด ซึ่งทุกด่านจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิร่างกาย กรอกเอกสารสุขภาพ ประวัติการเดินทาง สถานที่พักในไทย เบอร์โทรศัพท์ / อีเมล์ที่ติดต่อได้

2.การเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล ทั้งโรงพยาบาล ทีมแพทย์และพยาบาลเพื่อให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยให้ดีที่สุดตามมาตรฐานการรักษา

3.การเตรียมพร้อมทางห้องปฏิบัติการซึ่งมีทั้งของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และรพ.จุฬาฯเพื่อรองรับการตรวจวินิจฉัยให้ทราบว่าผู้ที่เข้าข่ายต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลาหรือไม่

4.การสื่อสารให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อลดความตระหนกและสร้างความร่วมมือกันในการเฝ้าระวังโรค

5.การบริหารจัดการ เช่นการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ป้องกันตนเองสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานการสนับสนุนสื่อความรู้ต่างๆ

ข้อแนะนำสำหรับประชาชน ช่วงนี้หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่โรคระบาด จนกว่าการระบาดจะสงบ หากจำเป็นต้องเดินทางไปขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการประเทศนั้นอย่างเคร่งครัด เมื่อเดินทางกลับก็ให้ความร่วมมือในการติดตามเฝ้าระวังโรคตามระบบที่วางไว้ โดยกรมควบคุมโรคได้จัดทำคำแนะนำสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการโรงแรมให้ช่วยร่วมเฝ้าระวังผู้เดินทางและเน้นการสังเกตอาการป่วย เช่น ไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลียมาก ปวดศีรษะและเจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อมาก อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงขึ้นตามตัว ให้รีบแนะนำหรือช่วยพาไปพบแพทย์ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้มาตรวจสอบโดยโรคนี้จะมีระยะฟักตัวประมาณ 2 - 21 วัน

***ขอย้ำว่าโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาติดต่อทางการสัมผัสเลือด น้ำเหลือง หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยหรือศพของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ แต่จะไม่ติดต่อทางการหายใจ ทางอาหาร ทางน้ำดื่มหรือถูกยุงกัด ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422***