ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับกองทุนรวมตลาดเงินภายในประเทศ
การประกาศคงอันดับกองทุนทั้งสองสะท้อนถึง
คุณภาพเครดิตและการกระจายตัวของสินทรัพย์
สอดคล้องกับเกณฑ์การลงทุนของอันดับกองทุนรวมตลาดเงินที่ ‘AAAmmf(tha)’ ที่กำหนดโดยฟิทช์ TMBTM และ TMBMF สามารถรักษาคุณภาพเครดิตของสินทรัพย์ภายใต้กองทุนโดยลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอันดับเครดิตระยะสั้นอย่างต่ำที่ ‘F1(tha)’ (หรือสินทรัพย์ที่มีอันดับเครดิตเทียบเท่า) เท่านั้น กองทุนทั้งสองลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอันดับเครดิตระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของสินทรัพย์ภายใต้กองทุน นอกจากนี้ กองทุนทั้งสองยังจำกัดสัดส่วนการลงทุนในผู้ออกตราสารหนี้และคู่สัญญาแต่ละรายให้สอดคล้องกับเกณฑ์การลงทุนดังกล่าวข้างต้น
ในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2557 TMBTM และ TMBMF มี Portfolio Credit Factor (ซึ่งเป็นค่าวัดความเสี่ยงที่พิจารณาถึงคุณภาพเครดิตและอายุของสินทรัพย์ภายใต้กองทุน) ที่ไม่เกิน 1.5 ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับเกณฑ์การลงทุนของอันดับกองทุนรวมตลาดเงินที่ ‘AAAmmf(tha)’
TMBTM มีนโยบายไม่ลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในภาคสถาบันการเงิน (corporate debt securities) ในขณะที่ TMBMF จำกัดการลงทุนใน corporate debt securities ไว้ที่ร้อยละ 15 ของสินทรัพย์ภายใต้กองทุน ในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2557 TMBMF มีการลงทุนใน corporate debt securities ใกล้กับระดับที่จำกัดไว้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการที่ TMBMF มีการลงทุนใน corporate debt securities ได้ถูกลดทอนลงจากการที่ตราสารหนี้ดังกล่าวมีคุณภาพเครดิตที่สูงและมีอายุตราสารหนี้ที่สั้น
อายุของสินทรัพย์
กองทุนทั้งสองได้จำกัดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยและอันดับเครดิตสอดคล้องกับเกณฑ์การลงทุนของอันดับกองทุนรวมตลาดเงินที่ ‘AAAmmf(tha)’ โดยกองทุนทั้งสองได้กำหนดให้ระดับค่าเฉลี่ยของอายุจนถึงวันที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยใหม่ของสินทรัพย์ที่ลงทุน (Weighted Average Maturity to Reset Date – WAM) อยู่ที่ไม่เกิน 60 วัน TMBTM และ TMBMF ไม่ได้มีการกำหนดระดับค่าเฉลี่ยของอายุจนถึงวันที่ครบกำหนดชำระของสินทรัพย์ที่ลงทุน (Weighted Average Life – WAL) แต่จากการที่สินทรัพย์ที่ลงทุนเป็นสินทรัพย์ประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่ทั้งหมด ทำให้ WAM และ WAL ของกองทุนอยู่ในระดับที่เท่ากัน ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2557 WAM ของ TMBTM และ TMBMF อยู่ต่ำกว่า 58 วันและ 56 วันตามลำดับ ในขณะเดียวกัน อายุคงเหลือของสินทรัพย์แต่ละตัวที่ลงทุนของกองทุนทั้งสองอยู่ที่ไม่เกิน 397 วัน ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์การลงทุนที่กำหนดโดยฟิทช์สำหรับตราสารหนี้ที่ไม่ใช่ภาครัฐและตราสารหนี้รัฐบาลที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่
สภาพคล่องของสินทรัพย์
กองทุนทั้งสองจำกัดความเสี่ยงจากการไถ่ถอนหน่วยลงทุน โดยรักษาสภาพคล่องของกองทุนรายวันและรายสัปดาห์ให้อยู่ในระดับที่เพียงพอ สอดคล้องกับเกณฑ์การลงทุนที่กำหนดโดยฟิทช์ TMBTM และ TMBMF มีข้อกำหนดในการลงทุนโดยต้องลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ถึง 15 ของสินทรัพย์ภายใต้กองทุนในสินทรัพย์ที่ครบกำหนดในวันทำการถัดไปหรือสินทรัพย์อื่นที่มีสภาพคล่องเทียบเท่า และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ถึง 30 ในสินทรัพย์ที่ครบกำหนดใน 7 วันทำการหรือสินทรัพย์อื่นที่มีสภาพคล่องเทียบเท่า ซึ่งกองทุนทั้งสองสามารถรักษาระดับสภาพคล่องให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ในช่วง 14 เดือนที่ผ่าน สะท้อนถึงการที่กองทุนทั้งสองมีการลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลระยะสั้นที่สูง ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2557 TMBTM มีสินทรัพย์ที่นับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องรายวันและรายสัปดาห์ (ซึ่งรวมถึงตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น) มากกว่าร้อยละ 90 ในขณะที่ TMBMF มีสินทรัพย์ที่นับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องรายวันและรายสัปดาห์มากกว่าร้อยละ 75 ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2557 TMBMF มีการลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลระยะสั้นประมาณร้อยละ 75 ของสินทรัพย์ภายใต้กองทุน และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา TMBMF มีการลงทุนในตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดภายใน 7 วันระหว่างร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 27 ของสินทรัพย์ภายใต้กองทุน
วัตถุประสงค์การลงทุน
TMBTM และ TMBMF มีวัตถุประสงค์การลงทุน เพื่อรักษาเงินต้นและดำรงสภาพคล่องให้อยู่ในระดับสูงโดยจำกัดความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงจากปัจจัยตลาดที่เปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง กองทุนทั้งสองดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของการลงทุนโดยลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีคุณภาพเครดิตสูง ซึ่งรวมถึงตราสารหนี้ภาครัฐ เงินฝากประจำ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และการทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน โดย ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2557 TMBTM และ TMBMF มีสินทรัพย์ภายใต้การลงทุนมูลค่า 17.5 พันล้านบาทและ 8.6 พันล้านบาทตามลำดับ
บริษัทจัดการกองทุน
TMBAM ตั้งขึ้นในปี 2539 โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต ‘A+(tha)’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ/‘F1(tha)’) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศ ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 87.5 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 TMBAM มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ 181 พันล้านบาทภายใต้ 60 กองทุนและมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในอันดับที่ 7 ในธุรกิจกองทุนรวมเมื่อพิจารณาจากขนาดสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ ฟิทช์มองว่า TMBAM มีระบบควบคุมตรวจสอบการลงทุนและการดำเนินงาน การเฝ้าติดตามการลงทุน กระบวนการตัดสินใจในการเลือกลงทุนและการสนับสนุนกองทุนที่สอดคล้องกับอันดับกองทุนของ TMBTM และ TMBMF
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับกองทุนรวมตลาดเงินในอนาคต
อันดับกองทุนอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากกองทุนมีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในคุณภาพเครดิตหรือความเสี่ยงจากปัจจัยตลาดที่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้การเบี่ยงเบนที่มีสาระสำคัญของปัจจัยหลักที่ใช้ในการจัดอันดับจากหลักเกณฑ์ของฟิทช์ อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับกองทุนได้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับกองทุนรวมตลาดเงิน สามารถดูได้จากรายงานที่แสดงไว้ข้างล่างในการติดตามทำการวิเคราะห์อันดับกองทุนรวมตลาดเงินภายในประเทศ ฟิทช์ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนและรายละเอียดการลงทุนจาก TMBAM เป็นรายสัปดาห์ และได้ทำการเปรียบเทียบการลงทุนของกองทุนกับเกณฑ์การลงทุนที่กำหนดไว้