มอริซิโอ เร็กจิอานี ผู้ดูแลฝ่ายวิจัยและพัฒนาของแลมโบร์กีนีกล่าวว่า แลมโบร์กีนี ฮูราแคน ซูเปอร์ โทรฟีโอ คือมิติใหม่แห่งสุดยอดรถแข่งอย่างแท้จริง “แลมโบร์กีนี ฮูราแคน แอลพี 620-2 ซูเปอร์ โทรฟีโอ ถูกออกแบบภายใต้แนวคิดของรถแข่งที่สมบูรณ์แบบ ฟังก์ชั่นการทำงานทั้งหมดคิดค้นมาเพื่อเสริมสมรรถนะการขับขี่ขั้นสูงสุดโดยยังคงมาตรฐานความปลอดภัยของการขับขี่ในสนามแข่งไว้อย่างรัดกุมที่สุด”โครงรถช่วงล่างติดตั้งโรลเคจน้ำหนักเบาเพียง 43 กิโลกรัมซึ่งคลุมไปจนถึงส่วนเพลาหลัง โดยสามารถรับแรงบิดได้มากกว่าเดิม 45% เมื่อเปรียบเทียบกับยานยนต์รุ่นก่อน โดยตัวเฟรมเป็นวัสดุไฮบริดผสมคาร์บอนอะลูมิเนียมซึ่งถูกออกแบบเพื่อรองรับพื้นที่สำหรับวางหม้อน้ำรุ่นใหม่ในส่วนหน้ารถและพื้นที่ติดตั้งกระปุกเกียร์สเปครถแข่งขันในส่วนท้ายให้มีความลงตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ยานยนต์มีรูปทรงถูกต้องตามหลักอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics) อย่างดีเยี่ยม อีกทั้งยังมีน้ำหนักรถเปล่าเพียง 1,270 กิโลกรัมและมีการกระจายน้ำหนักหน้า:หลังที่ 42/58%
สำหรับโครงรถด้านนอกใช้วัสดุผสมและถูกออกแบบให้สอดคล้องกับหลักอากาศพลศาสตร์ โดยเป็นผลงานการออกแบบร่วมกับ ดัลลาร่า เอนจิเนียริ่ง (Dallara Engineering) ซึ่งก่อตั้งโดย จาน เปาโล ดัลลาร่า ซึ่งทำให้การประกอบ ฮูราแคน ซูเปอร์ โทรฟีโอ เสร็จสมบูรณ์ได้อย่างเร็วขึ้น และการออกแบบหม้อน้ำมันใหม่ที่ทำให้สมรรถนะการขับขี่สูงกว่ารุ่น แลมโบร์กีนีกัลญาร์โด้ อีกด้วย
แลมโบร์กีนี ฮูราแคน ซูเปอร์ โทรฟีโอ ใช้นวัตกรรมเครื่องยนต์หัวฉีดไดเร็คอินเจ็คชั่นV10 เช่นเดียวกับรุ่นฮูราแคน แอลพี 610-4ซึ่งจัดสรรพลังงานโดยอุปกรณ์หน่วยควบคุมของ Motec ซึ่งให้กำลังสูงสุดถึง 620 แรงม้า และมีอัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักที่ 2.05 กิโลกรัม/แรงม้า
หนึ่งในระบบการขับขี่ที่สำคัญของรุ่น แลมโบร์กีนี บลองแปง ซูเปอร์ โทรฟีโอ คือทางเลือกระบบการขับเคลื่อนล้อหลังซึ่งถูกนำมาใช้ในการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบรุ่น GT Class แล้ว ทำให้นักขับรถยนต์รุ่น ซูเปอร์ โทรฟีโอ สามารถสัมผัสได้ถึงระบบการทรงตัวชั้นเยี่ยมที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการขับขี่ในสนามแข่งได้อย่างเป็นยอด
อีกหนึ่งนวัตตกรรมใหม่ของ แลมโบร์กีนี ฮูราแคน ซูเปอร์ โทรฟีโอ คือระบบสนับสนุนเครื่องยนต์รูปแบบใหม่ ที่ใช้คลัตช์แบบสามจานและระบบเกียร์แบบ XTrac Sequential Gearbox ซึ่งออกแบบมาสำหรับรถรุ่นนี้เพื่อใช้ร่วมกับหัวฉีดระบบไฟฟ้าซึ่งออกแบบโดยแผนกรถแข่งของ แม็กเนติ มาเรลลี (Magneti Marelli Motorsport Division)
ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ แลมโบร์กีนี ฮูราแคน ซูเปอร์ โทรฟีโอ ยังถือเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดครั้งสำคัญ ด้วยการใช้สายเคเบิ้ลและข้อต่อน้ำหนักเบารุ่นใหม่เพื่อให้เหมาะสำหรับการแข่งขันโดยเฉพาะ อุปกรณ์หน่วยควบคุมเป็นรุ่น MOTEC M182 ที่สามารถควบคุมข้อมูล การเปลี่ยนเกียร์ และการแสดงผลบนจอแบบ TFT ซึ่งติดตั้งไว้ที่แผงหน้าปัดรถ พร้อมฟังก์ชั่นการทำงานพิเศษอย่างระบบควบคุมล้อหมุนฟรีและระบบเบรกกันล้อล็อก (ABS) ของ Bosch Motorsport ซึ่งสามารถตั้งค่าให้เหมาะสมกับการขับขี่ในทุกสภาพถนนและสภาพภูมิอากาศได้ถึง 12 รูปแบบอย่างง่ายดายจากปุ่มควบคุมบนพวงมาลัย โดยพวงมาลัยยังถูกออกแบบให้เอื้อต่อการขับขี่ในสนามแข่งโดยเฉพาะ โดยเป็นผลงานการออกแบบร่วมกับ โอเอ็มพี (OMP)สำหรับไฟหน้าและไฟท้ายยังคงเป็นแบบแอลอีดี (LED) เช่นเดียวกับรุ่นฮูราแคน แอลพี 610-4
การออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics) ถูกพัฒนาอย่างเหนือขั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในเรื่องแรงต้าน เพิ่มแรงฉุดและแรงกดสูงสุดในทุกสภาวะการขับขี่ รวมไปถึงการติดตั้งอุปกรณ์ปีกท้ายที่สามารถปรับได้ถึง 10 รูปแบบ อุปกรณ์ดิฟฟิวเซอร์ทั้งหน้าและหลัง และช่องลมเข้าด้านหน้าที่ปรับระดับได้ ยังช่วยเพิ่มความสมดุลให้กับตัวรถได้มากยิ่งขึ้น
แลมโบร์กีนี ฮูราแคน ซูเปอร์ โทรฟีโอใช้ยางรุ่นพิเศษของพิเรลลี (Pirelli) ซึ่งเกิดจากการเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ตั้งแต่ในขั้นตอนการร่างแบบรถไปจนถึงการทดสอบสมรรถนะเครื่องยนต์บนสนาม เพื่อการออกแบบยางที่เหมาะสมกับการขับขี่ที่เหนือชั้นในแบบฉบับของแลมโบร์กีนี โดยเฉพาะต้องให้สอดคล้องกับการขับขี่ด้วยระบบสองล้อทำให้ต้องใช้ยางขนาดใหม่ คือ ยางหน้าขนาด 305/660-18และยางหลังขนาด 315/680-18
นอกจากนี้ ช่วงล่างยังติดตั้งเหล็กกันโคลงแบบปรับได้และดัมเปอร์แบบปรับได้สองทิศทางของโอห์ลินส์ (Ohlins) ส่วนระบบเลี้ยวแบบไฮดรอลิคซึ่งใช้ปั๊มระบบไฟฟ้ายังช่วยให้นักขับสามารถหักเลี้ยวได้อย่างเฉียบคม
การตกแต่งภายในแบบสไตล์ตระกูลรถแข่งใช้หนังอัลแคนทาร่า (Alcantara) สี Nero Ade ในการบุห้องโดยสารตลอดคัน ทั้งบริเวณหน้าปัด ช่องกลาง ตลอดจนอุปกรณ์ภายในทั้งหมดอย่างพวงมาลัยแผงกระปุกเกียร์ และเบาะนั่งที่ออกแบบมาตามหลักสรีรศาสตร์อย่างประณีต
ในเดือนที่ผ่านมา ยานยนต์แลมโบร์กีนีรุ่นใหม่นี้ได้อวดโฉมและโชว์สมรรถนะในการทดสอบเพื่อการพัฒนาบนสนามแข่งเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งการทดสอบอยู่ภายใต้การควบคุมของหัวหน้าการทดสอบสมรรถนะ จิออร์จิโอ ซานนา และ เจ้าหน้าที่การทดสอบสมรรถนะสองคนของ ออโตโมบิลี แลมโบร์กีนี ได้แก่ ฟาบิโอ บาบินี และ เอเดรียน ซอกก์ ร่วมด้วยนักขับจาก Young Driver Program ซึ่งมาทำการทดสอบและร่วมแสดงความคิดเห็นในงานครั้งนี้
การสร้างสรรค์ยานยนต์ แลมโบร์กีนี ฮูราแคน แอลพี 620-2 ซูเปอร์ โทรฟีโอ ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์แลมโบร์กีนี ซึ่งก่อตั้งโดย เฟอร์รุชชิโอ แลมโบร์กีนี ในปี ค.ศ. 1963 และ จาน เปาโล ดัลลาร่า ซึ่งถือเป็นทีมวิศวกรกลุ่มแรกที่ทำงานให้กับแบรนด์ลัมโบร์กีนีและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนายานยนต์แห่งตำนานในรุ่นมิวร่า
จาน เปาโล ดัลลาร่า กล่าวว่า “นับเป็นเกียรติอย่างสูงสำหรับ ดัลลาร่า เอนจิเนียริ่ง ที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบอากาศพลศาสตร์และโครงรถของยนตกรรมสมรรถนะสูงอย่าง แลมโบร์กีนี ฮูราแคน ซูเปอร์ โทรฟีโอซึ่งเป็นเสมือนการ ‘คืนถิ่น’ ของเราด้วยโดยเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แลมโบร์กีนี ได้มอบโอกาสให้ผมได้ปฏิบัติงานในโครงการที่ท้าทายและประสบความสำเร็จ ส่วนการทำงานในครั้งนี้ทำให้ผมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทชั้นแนวหน้า ที่นำมาซึ่งความสำเร็จทั้งในระดับส่วนตัวและในด้านการทำงาน”หากต้องการชมภาพและวีดีทัศน์เพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์http://media.lamborghini.comและhttp://www.thenewsmarket.com/lamborghiniหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ออโตโมบิลี แลมโบร์กีนี กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์www.lamborghini.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit