กรม คร. เผยปีนี้เป็นวงรอบการระบาดของโรคตาแดง แนะป้องกันด้วยหมั่นล้างมือ ไม่ขยี้ตา

09 Sep 2014
กรมควบคุมโรคเผยปี 2557 นี้เป็นวงรอบการระบาดของโรค นับตั้งแต่ต้นปีมานี้มีรายงานผู้ป่วยโรคตาแดงจำนวนมาก จากรายงานการเฝ้าระวังโรคโดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค 8 เดือนแรก มีผู้ป่วยโรคตาแดง 160,906 ราย จาก 77 จังหวัด ส่วนใหญ่วัยแรงงาน แม้เป็นการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรง แต่อาจทำให้เกิดความรำคาญ หยุดงาน หรือ ถ้ารักษาไม่ถูกต้องอาจทำให้ตาบอดได้ พร้อมแนะสุขนิสัยส่วนบุคคลป้องกันได้ เช่น หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ไม่ขยี้ตา ถ้ามีอาการตาแดง ปวดตา ควรไปพบแพทย์ หยุดเรียน หรือหยุดงานรักษาตัวอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 3 วัน
กรม คร. เผยปีนี้เป็นวงรอบการระบาดของโรคตาแดง แนะป้องกันด้วยหมั่นล้างมือ ไม่ขยี้ตา

วันนี้ (8 กันยายน 2557) นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า โรคตาแดง หรือโรคเยื่อบุตาอักเสบพบบ่อยในช่วงฤดูฝน ซึ่งมักเกิดการระบาดในชุมชนที่มีคนอยู่ร่วมกัน เช่น โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานที่ทำงาน สระว่ายน้ำ เป็นต้น สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ ในเด็กจะระบาดได้ง่ายกว่าเนื่องจากไม่รู้จักวิธีป้องกัน แต่ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคไม่มากและสามารถหายเองได้ โดยข้อมูลการเฝ้าระวังโรคตาแดง

โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 1 ก.ย. 2557 มีผู้ป่วยโรคตาแดง 160,906 ราย จาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 253.30 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 35 - 44 ปี (ร้อยละ 12.35) รองลงมา คือ 45-54 ปี และ 25-34 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อุบลราชธานี 826.94 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ ระนอง อำนาจเจริญ ปัตตานี และพัทลุง ตามลำดับ

โรคตาแดงเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อ ภูมิแพ้ ถูกสารเคมี เป็นต้น ชนิดที่จะกล่าวถึงที่พบได้บ่อยและติดต่อกันได้ง่ายมาก คือ โรคเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อไวรัส ชนิดที่พบมากที่สุดคือ อดีโนไวรัส (Adenovirus) ส่วนรองลงมาคือ เฮอร์ปีสไวรัส (Herpes virus) เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) และ คอกแซกกี (Coxsackie) ติดต่อทางน้ำตา ผ่านทางการสัมผัสโดยตรงจากมือหรือเครื่องใช้ และไปสัมผัสตาของอีกคนหรือถูกน้ำสกปรกเข้าตา ไม่ติดต่อทางการมองหรือทางอากาศ หรือรับประทานอาหารร่วมกัน

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า อาการของโรคนี้ พบหลังจากที่มือหรือวัตถุที่มีเชื้อโรคมาสัมผัสตาโดยตรง ประมาณ 1-2 วัน จะเริ่มมีอาการเยื่อบุตา ที่คลุมภายในหนังตาและคลุมตาขาวเกิดการอักเสบ บวม เคืองตามาก น้ำตาไหล เจ็บตา มักจะมีขี้ตามากร่วมด้วย อาจเป็นเมือกใสหรือมีสีเหลืองอ่อน เนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรียมาพร้อมกัน ส่วนใหญ่จะเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่ง ยกเว้นจะติดเชื้อพร้อมๆ กัน แต่อย่างไรก็ตามอีกข้างมักจะติดเชื้อด้วยเนื่องจากไม่ได้ระมัดระวัง การติดเชื้อมักมีอาการมากในช่วง 4 -7 วันแรกแต่จะหายได้เองในเวลาประมาณ 7-14 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนการรักษานั้นจะเน้นรักษาตามลักษณะอาการของโรค และจำกัดการแพร่เชื้อจนอาการหายดี เนื่องจากยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสนี้โดยตรง หากมีขี้ตามากรักษาด้วยการหยอดยาปฏิชีวนะและถ้ามีไข้ เจ็บคอ รักษาโดยใช้ยา แก้อักเสบร่วมกับยาลดไข้ และยาลดปวด ประชาชนสามารถป้องกันโรคตาแดงด้วย 1. หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดอยู่เสมอก่อนเอามือสัมผัสหรือขยี้ตา 2. ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับคนที่เป็นตาแดง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัสผู้ป่วย 3. ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย 4. ไม่ใช้มือแคะ แกะ เกาหน้าตา ถ้ามีฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที 5. อย่าปล่อยให้แมลงหวี่ หรือแมลงวันตอมตา และ 6. หมั่นดูแลรักษาความสะอาดร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้าผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดหน้า ให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ใช้สิ่งของเหล่านี้ร่วมกับผู้อื่น รวมถึงหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในช่วงที่มีตาแดงระบาด

"สำหรับผู้ป่วยโรคตาแดงสิ่งสำคัญที่สุดคือ ควรพบแพทย์ หยุดเรียน หรือหยุดงานรักษาตัวอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 3 วัน ไม่ให้โรคตาแดงลุกลามหรือติดต่อสู่คนอื่น หากใช้กระดาษ หรือสำลีเช็ดขี้ตา เช็ดหน้าแล้ว ควรทิ้งในถังขยะที่มิดชิดควรใส่แว่นกันแดดเพื่อลดการระคายเคืองจากแสง งดใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าตาจะหายอักเสบ พักผ่อนให้เต็มที่ พักการใช้สายตา และล้างมือให้สะอาดหลังจับบริเวณใบหน้าและตาทุกครั้ง ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร. 02-590-3183 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422" นายแพทย์โสภณ กล่าว

กรม คร. เผยปีนี้เป็นวงรอบการระบาดของโรคตาแดง แนะป้องกันด้วยหมั่นล้างมือ ไม่ขยี้ตา
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit