ปัจจุบันสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงมีกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือมากมายหลายแห่ง และมีการดำเนินกิจการจนเจริญรุดหน้าและยังมีบางสหกรณ์ที่จะต้องมีการส่งเสริมพัฒนาเพิ่มเติม และเพื่อให้การดำเนินงานของสหกรณ์ต่างๆ ในโครงการหลวงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก้าวตามทันกับสถานการณ์ทั้งการผลิตและการตลาด ตลอดถึงการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฎิบัติการเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติด้านการสหกรณ์ในโครงการหลวงขึ้น เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ในการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงให้มีความเข้มแข็งและสามารถช่วยเหลือราษฎรให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โอกาสนี้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวงได้ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ ณ ห้องประชุมศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา และตรัสชื่นชมสหกรณ์ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือโครงการหลวง ซึ่งได้ผลดีอย่างมาก พร้อมทั้งฝากให้ทุกคนที่เป็นสมาชิกสหกรณ์และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ ได้ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้และทำความเข้าใจต่อราษฎรว่าประโยชน์จากการเป็นสมาชิกสหกรณ์คืออะไร และให้เชิญชวนประชาชนมาร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์ให้มากขึ้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีรับสั่งว่า การไปห้ามชาวเขาไม่ให้ปลูกฝิ่นคงห้ามไม่ได้ แต่จะต้องหาพืชอื่นไปให้ปลูกทดแทน ซึ่งจะทำให้ราษฎรมีรายได้ที่ดีกว่า ซึ่งโครงการหลวงก็ได้สนองพระราชดำรินี้มาโดยตลอด ส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชเมืองหนาว ซึ่งได้ผลดี บางรายปลูกสตอเบอรี่ 1 ไร่มีรายได้ถึง 4 แสนบาทต่อปี โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อมีการจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นในพื้นที่โครงการหลวง ทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์กับโครงการหลวงอย่างต่อเนื่องด้วยดีตลอดมา
ด้านนายปริญญา เพ็งสมบัติ รองอธิบดีกรมส่งสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เข้าสนองงานร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง ในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นโดยจัดให้มีการรวมกลุ่มเพื่อร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการประกอบอาชีพตามหลักและวิธีการสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่โครงการหลวง ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์แล้วจำนวน 50 แห่ง กลุ่มเกษตรกรจำนวน 4 แห่ง กลุ่มเตรียมสหกรณ์ จำนวน 10 แห่ง และกลุ่มอาชีพจำนวน 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 65 แห่ง มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 8,316 คน มีทุนเรือนหุ้นรวมทั้งสิ้น 24,486,441 บาท และมีทุนสำรอง รวมทั้งสิ้น 16,052,648 บาท มีทุนดำเนินงาน รวมทั้งสิ้น 142,548,136 บาท สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง ได้ดำเนินธุรกิจเพื่อให้บริการแก่สมาชิกทั้งด้านการให้สินเชื่อ การจัดหาวัสดุอุปกรณ์การเกษตรที่มีสมาชิกต้องการมาจำหน่าย การรวบรวมผลผลิตจากสมาชิก ให้บริการด้านการปรับปรุงพื้นที่การเกษตร และขนส่งผลผลิต ตลอดจนการรับฝากเงินจากสมาชิก ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาสหกรณ์มีผลกำไรจากการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 1,933,410 บาท
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้จัดสรรงบประมาณเป็น เงินอุดหนุนให้แก่สหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง เพื่อเป็นค่าก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ซึ่งใช้เป็นสำนักงานของสหกรณ์ ค่าก่อสร้างโรงเรือนพลาสติกให้แก่สมาชิก และค่าจัดจ้างพนักงานเพื่อช่วยเหลืองานสหกรณ์ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2551 จนถึงปัจจุบัน มูลค่ารวมทั้งสิ้น 96 ล้านบาทและในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนงบประมาณการจัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพ การบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง เพื่อให้คณะกรรมการสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรพื้นที่โครงการหลวง มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการสหกรณ์และบทบาทหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง สามารถนำไปบริหารจัดการธุรกิจสหกรณ์ได้อย่างเหมาะสม อันจะส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของสหกรณ์ต่อไป
การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนางานสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง มีความเข้าใจร่วมกันในวิธีการปฏิบัติงานและบูรณาการ การทำงานร่วมกัน ตลอดจนรับทราบปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน และร่วมกันหาแนวทางการแก้ไข มีผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ในจังหวัดที่มีสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวง เจ้าหน้าที่จากศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ตัวแทนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรพื้นที่โครงการหลวง รวมทั้งสิ้น 230 คน
สหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ราษฎรบนพื้นที่สูงและกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ทีดีขึ้น ได้เข้าถึงโอกาสการพัฒนาในด้านอาชีพ ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ในฐานะสมาชิกสหกรณ์และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคงและยั่งยืน“งานส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ในโครงการหลวง ที่ผ่านมาได้ดำเนินการภายใต้แนวทาง การรวมคนเพื่อร่วมคิด ร่วมผลิต ร่วมพัฒนาและร่วมจำหน่าย ตลอดถึงร่วมแก้ไข และร่วมรับผลประโยชน์ สามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่วิถีชีวิตบุคคลและชุมชนได้อย่างยั่งยืน วิธีการสหกรณ์ภายใต้แนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิธีการสหกรณ์เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นหลักการที่ทำให้คนได้รู้จักการพึ่งพาตนเองอย่างมีภูมิคุ้มกันและทิศทางสามารถดำรงชีพได้ในทุกวิกฤติการณ์” นายปริญญา เพ็งสมบัติ รองอธิบดีกรมส่งสริมสหกรณ์ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit