Q สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่ เกิดจากสาเหตุอะไร
A เกิดจากโรคติดต่อ เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งและเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ชื่อเต็มๆเรียกว่า ฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส (Human Papilloma Virus) หรือ HPV เชื้อตัวนี้ถ้าเราจะคุ้นเคย ก็คือเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ ซึ่งเราพบได้มาเนิ่นนานแล้ว เพียงแต่ว่ากลุ่มเชื้อของตัวที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่เป็นชนิดความรุนแรงที่น้อยกว่า ส่วนตัวที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นความรุนแรงที่มากกว่า
Q แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก
A ถือเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากในระยะแรกๆ ที่ยังไม่มีการลุกลามเป็นมะเร็ง มีแค่ระดับเซลล์ที่ผิดปกติไปแค่นั้นผู้ป่วยก็จะไม่มีอาการอะไรเลย ผู้ป่วยก็จะนิ่งนอนใจว่าเราคงไม่ได้เป็นอะไร ทำให้คลาดจากการตรวจที่สำคัญไปก็คือการตรวจสุขภาพประจำปีทางสูตินรีเวช ซึ่งผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยเรื่องของการมีเลือดออกมากผิดปกติ มีตกขาวกลิ่นผิดปกติ หรือมีเลือดออกหลังการมีเพศสัมพันธ์
Q วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทำอย่างไร
A ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจหลายวิธี ตั้งแต่วิธีการดั้งเดิมที่เรียกว่าแปปสเมียร์ ปัญหาที่พบจากการตรวจวิธีนี้คือ เวลาเราป้ายเซลล์ไปตรวจ บางครั้งไม่ได้เซลล์ที่ผิดปกติทั้งๆ ที่ผู้ป่วยรายนั้นอาจจะมีเซลล์ที่ผิดปกติซ่อนอยู่เมื่อเราไปได้เซลล์ที่ปกติมา เพราะฉะนั้นการอ่านผลหรือว่าการรายงานผลต่างๆ ก็จะต้องรายงานว่าปกติ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรายนั้นไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง อันนี้เรียกว่าผลลบลวง
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีตินเพร็พ โดยใช้อุปกรณ์เฉพาะในการเก็บตัวอย่าง ป้ายเยื่อบุผิวจากบริเวณปากมดลูกด้วยวิธีเดียวกับการทำแปปสเมียร์ แล้วนำเซลล์ตัวอย่างที่เก็บได้ทั้งหมดใส่ลงในขวดน้ำยาเพื่อรักษาเซลล์ ส่งเข้าเครื่องอัตโนมัติในการเตรียมเซลล์เยื่อบุผิวที่ปราศจากสิ่งปนเปื้อนพวกมูกหรือเม็ดเลือดและลดการซ้อนทับของเซลล์ที่หนาแน่นเกินไปลงบนแผ่นสไลด์แก้ว ช่วยเพิ่มโอกาสให้พยาธิแพทย์ในการตรวจพบความผิดปกติที่มีอยู่ได้ดียิ่งขึ้น
การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ในขั้นละเอียดมากขึ้น สามารถตรวจหาเชื้อได้ถึงร้อยละ 99.7
Q ใครบ้างที่ควรมาตรวจคัดกรองหามะเร็งปากมดลูก
A สตรีทุกคนควรตรวจมะเร็งปากมดลูก โดยเน้นสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
Q ข้อแนะนำกับผู้หญิงไทยในเรื่องมะเร็งปากมดลูก
A โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคซึ่งพบได้มากและก็มีอันตรายที่ร้ายแรง ถ้าเราสามารถตรวจพบในระยะแรกเริ่ม การรักษาอาจจะเป็นแค่การผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อที่ผิดปกติบริเวณนั้นออกหรือตัดมดลูกออกไปในผู้ป่วยที่มีลูกเพียงพอแล้ว ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าปล่อยให้ระยะของโรคนั้นลุกลามจนเป็นมะเร็งระยะที่ 1,2,3,4 ความรุนแรงมันก็มักจะมากขึ้นเรื่อยๆ การรักษาก็จะทำได้ยากลำบากและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงขึ้นอย่างมาก แต่ในปัจจุบันนี้มีการนำวัคซีนมาให้ฉีดเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก ซึ่งใช้ได้ผลค่อนข้างดี โดยการฉีดบริเวณต้นแขนและใช้ได้กับเด็กหญิงตั้งแต่อายุ 9 ปี ขึ้นไป มีประสิทธิภาพที่ดีในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งในการป้องกันตัวเองจากโรคร้ายที่คุมคามชีวิตของผู้หญิงไทยในปัจจุบันให้มีความปลอดภัยมากขึ้น จึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์สูตินรีเวชเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนดังกล่าวด้วย ร่วมกับวิธีการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพดี ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้มากที่สุด
ข้อมูลสุขภาพโดย รพ.รามคำแหง
สายด่วนสุขภาพโทร 0-2743-9999 , 0-2374-0200-16
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit