นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวถึงการดำเนินงานของศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร จังหวัดระยอง กล่าวว่า ปัจจุบัน ศูนย์กำจัดขยะฯ รับขยะมูลฝอยจาก 19 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปริมาณ 200-250 ตันต่อวัน ซึ่งยังไม่เต็มศักยภาพของศูนย์กำจัดขยะฯ ที่สามารถรองรับขยะมูลฝอยได้ถึง 500 ตันต่อวัน ตามผลการศึกษา จึงเป็นที่มาของการขอรับการจัดสรรงบประมาณ และเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้อนุมัติให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร จังหวัดระยอง ระยะที่ 2 โดยเพิ่มอาคารคัดแยกขยะเครื่องจักรสำหรับผลิตปุ๋ย และระบบหมักก๊าซชีวภาพสำหรับหมุนเวียนนำพลังงานกลับมาใช้ภายในอาคารคัดแยก บ่อฝังกลบพร้อมถนนรอบบ่อ งานปิดบ่อฝังกลบบ่อที่ 2 พร้อมการเตรียมเปิดบ่อฝังกลบบ่อที่ 3 และการจัดหาครุภัณฑ์สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยฯ เช่น เครื่องร่อนวัสดุอินทรีย์ ในขบวนการผลิตปุ๋ย และเพื่อใช้สำหรับการร่อนเศษขยะจากบ่อเก่าที่ปิดไปแล้ว เพื่อนำกลับมาผลิตเป็นแท่งเชื้อเพลิง สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าต่อไปในอนาคต ที่จะมีการต่อยอดโครงการกันในส่วนนี้ ซึ่งเป็นที่มาของการร่วมมือกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด ในวันนี้ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร จังหวัดระยอง โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะพัฒนาและศึกษาความเป็นไปได้ในด้านเทคโนโลยีการแปลงขยะมูลฝอยเป็นพลังงาน (Waste to Energy) เพื่อเป็นกลไกการพัฒนาพลังงานที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองจะสนับสนุนพื้นที่ดำเนินการบริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยฯ รวมทั้งสนับสนุนการจัดหาขยะและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับดำเนินโครงการ ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยฯ สามารถรองรับขยะจากทุกๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดระยองของเรา เพื่อให้ปัญหาด้านขยะหมดไปจากจังหวัดระยอง
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าว่า ขยะมูลฝอยจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะถูกนำมาคัดแยกเป็นขยะสดและขยะอินทรีย์ โดยขยะสดจะนำไปแปลงเป็นเชื้อเพลิงแห้งหรือ Refuse Derived Fuel (RDF) ในขนาดความกว้าง 5-8 เซนติเมตร ซึ่งมีค่าความร้อนประมาณ 4,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม สามารถนำไปผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 6-9 เมกะวัตต์ เทียบได้กับการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนได้ถึง 1,500-2,000 หลังคาเรือน ส่วนขยะอินทรีย์จะถูกนำเข้าสู่ระบบหมักปุ๋ย เพื่อนำกลับมาใช้ในการเกษตรต่อไป โดยน้ำเสียจากระบบจะมีการรวบรวมและผ่านกระบวนการบำบัด ก่อนระบายลงสู่ลำธารสาธารณะอย่างเป็นระบบ ซึ่งการแปลงขยะไปเป็นพลังงานนี้จะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 240,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนดำเนินการขุดขยะเก่าจากบ่อฝังกลบขึ้นมาผลิตเชื้อเพลิง RDF เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตพลังงาน ทั้งยังเป็นการเปลี่ยนพื้นที่บ่อฝังกลบในปัจจุบันให้เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์เพิ่มเติมในจังหวัดระยองในอนาคตอีกด้วย ซึ่งการสนับสนุนโครงการนี้ เป็นไปตามนโยบาย Creating Shared Value (CSV) ของ กลุ่ม ปตท.. ซึ่งมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจที่สามารถประโยชน์และสร้างความสุขให้แก่ชุมชนอย่างแท้จริง ความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นโครงการนำร่องพัฒนาให้จังหวัดระยองในการเป็นต้นแบบของการมีส่วนร่วมกับภาครัฐและเอกชนที่จะสร้างวิสาหกิจชุมชนร่วมกัน รวมทั้งเป็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบพลังงานใหม่ อันเป็นการแก้ปัญหาของชุมชน พร้อมไปกับการสร้างประโยชน์ และสร้างความสุขแก่ประชาชนในระยะยาวอีกด้วย