“รวมเหล่าเยาวชนคนรักหุ่น” มีเป้าหมายในการสร้างและพัฒนาเครือข่ายคณะหุ่นเยาวชนจากทั่วประเทศ เพื่ออนุรักษ์สืบสานศิลปะหุ่นไทยประเภทต่างๆ ที่เป็นมหรสพดั้งเดิมให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป พร้อมทั้งเผยแพร่สู่สาธารณะทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยกิจกรรมในครั้งแรกนี้มีเยาวชนและครู เข้าร่วมถึง 20 คณะ กว่า 180 คน ทั้งหุ่นสาย หุ่นเงา หุ่นกระบอก หุ่นมือ ฯลฯ ได้มาพัฒนาทักษะและแลกเลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันอย่างสนุกสนาน จากการที่แต่ละคณะมีความโดดเด่นและน่าสนใจแตกต่างกัน อาทิ
คณะหุ่นลูกไม้แม่ขาน แห่งศูนย์การศึกษา โจ๊ะมาโลลือหล่า โรงเรียนวิถีชีวิตบนดอยสูงที่อำเภอสะเมิง เชียงใหม่ สามารถนำการแสดงหุ่นของเด็กๆ ประกอบ “บทธา” หรือการขับลำนำเพลงและดนตรีพื้นบ้าน ให้มีบทบาทในการรณรงค์ประเด็นของท้องถิ่นอย่างเรื่องเขื่อนและป่า โดยเป็นเสียงสะท้อนปัญหาของชุมชนจนประสบความสำเร็จมาแล้ว ส่วน คณะลูกขุนน้ำ นครศรีธรรมราช ก็มีการขับเคลื่อนที่คล้ายกัน แต่ต่างกันที่รูปแบบการแสดงที่เป็นแนวร่วมสมัย และหุ่นสายของ โรงเรียนบ้านหมูสี นครราชสีมา ก็เน้นประเด็นปัญหาของสัตว์แถบเขาใหญ่ที่ตายเพราะกินขยะโฟม-พลาสติกของนักท่องเที่ยว โดยคณะนี้โดดเด่นด้วยการประดิษฐ์หุ่นสัตว์ต่างๆ จากเครื่องจักสานในชีวิตประจำวัน ด้าน โรงเรียนเขื่อนเจ้าพระยา ชัยนาท ก็นำหุ่นฟางนกที่มีชื่อเสียงของจังหวัดมาประกอบเรื่องราวจากตำนานท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนอีกคณะที่เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้อย่างมากคือ หุ่นกระบอก ช.เจริญศิลป์ นครสวรรค์ ด้วยวิธีการพากย์ตลกปนสัปดนนิดหน่อยและใช้ภาษา-สำเนียงแบบพื้นบ้าน เด็กๆ ก็ได้รับการถ่ายทอดทักษะการเชิดหุ่นจากครูซึ่งเป็นลูกหลานของครูหุ่นดั้งเดิมได้ดี ในขณะที่ โรงเรียนสังวาลย์ศิลป์ ตาก ก็มีรากฐานจากหุ่นพื้นบ้านของแม่สังวาลย์ ซึ่งอาจเก่าแก่ที่สุดของไทย แต่ประดิษฐ์หุ่นขึ้นใหม่โดยเด็กๆ ทำเสื้อผ้ากันเอง และประยุกต์โดยนำหุ่นคนมาร่วมแสดงด้วย
คณะหุ่นสายช่อชะคราม โรงเรียนวัดเขายี่สาร สมุทรสงคราม จัดว่าเป็นต้นแบบในการต่อยอดขยายผลที่ดี โดยเริ่มจากโรงเรียนเล็กๆ แต่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ใช้หุ่นเป็นเครื่องมือทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับชาวบ้านได้ เช่น เรื่องเกษตรพอเพียง ป่าโกงกาง การป้องกันยุงลาย ฯลฯ เมื่อจัดการแสดงหุ่นแต่ละครั้ง สมาชิกในครอบครัวและชุมชนก็ให้ความร่วมมือ และออกร้านจำหน่ายสินค้าของท้องถิ่น ในขณะที่ คณะบุญมีดวงจันทร์ ภูเก็ต ก็มีแนวทางที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์และ สืบสานอัตลักษณ์ ทั้งในส่วนของตัวหุ่นที่มี “หุ่นกาเหล” แบบเก่าแก่ดั้งเดิม, เรื่องราวพื้นบ้าน, การใช้วัตถุดิบของท้องถิ่นในการทำตัวหุ่นและเสื้อผ้า ฯลฯ พร้อมทั้งขยายไปสู่การทำหุ่นฟองน้ำขนาดใหญ่ที่ โรงเรียนบ้านสามกอง ภูเก็ต โดยเชื่อมโยงกับโครงการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วย ตลอดจนสนับสนุนให้ครูและเด็กๆ ที่ โรงเรียนบ้านบางนุ พังงา ก่อตั้งคณะหุ่นที่มีหุ่นหมาน้อยเป็นเอกลักษณ์ด้วย
กิจกรรม “รวมเหล่าเยาวชนคนรักหุ่น” เป็นเวทีแบ่งปันความภาคภูมิใจที่เด็ก-ครู ช่วยกันคิด ทำ และถ่ายทอดความรักในศิลปะหุ่นไทย พร้อมกับการสานพลังเครือข่ายคณะหุ่นโดยสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตที่มีประโยชน์ในหลายมิติ และจุดประกายสู่การพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนหรือท้องถิ่น เช่น การสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณี การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน-สินค้าโอทอป ซึ่งเครือข่ายหุ่นเยาวชนที่เข้มแข็งกลุ่มนี้ก็จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไป และเตรียมความพร้อมสู่ “เทศกาลหุ่นโลกกรุงเทพฯ 2014” ปลายปีนี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit