สถาบันฯสิ่งทอหนุนพัฒนาเครื่องแต่งกายมุสลิม สวย ดี มีคุณภาพและเป็นสากล

15 Sep 2014
กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดสัมมนาสรุปผลโครงการ พัฒนาสิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ ระยะ 2 โชว์ฝีมือผู้ประกอบการ 5 จังหวัดชายแดนใต้ สวย ดี มีคุณภาพและเป็นสากล ดึง “เมญ่า" นนธวรรณ ทองเหล็ง มิสไทยแลนด์เวิลด์ ประจำปี 2014 ร่วมด้วยทัพนายแบบนางแบบกว่า 30 ชีวิต ในแฟชั่นโชว์สุดอลังการ พร้อมตั้งเป้าหมายเดินหน้า สร้างความร่วมมือและเชื่อมโยงคุณค่าท้องถิ่นกับอุตสาหกรรมสิ่งทอสู่คุณภาพชีวิตที่ดีรองรับ AEC ในปี 2558 โดยมี นายชัยวัฒน์ ศิรินุพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนในความร่วมมือ นายทวี จันทร์สกุล กล่าวต้อนรับ และนายประดิษฐ์ รัตนวิจิตราศิลป์ กล่าวรายงาน เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2557 ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมบุรีศรีภู หาดใหญ่
สถาบันฯสิ่งทอหนุนพัฒนาเครื่องแต่งกายมุสลิม สวย ดี มีคุณภาพและเป็นสากล

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า สถาบันฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา ยะลา ปัตตานี สตูล และนราธิวาส ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2556 (ระยะที่ 1) มุ่งเน้นสร้างผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมให้ สวย ดี มีคุณภาพ สำหรับในปี 2557 นี้ถือเป็นการดำเนินงานในระยะที่ 2 โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างเข้มข้นมากขึ้น ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ มุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้ ทั้งด้านการออกแบบ พัฒนาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมถึงบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการขยายช่องทางและโอกาสทางการตลาดในภูมิภาคอาเซียน พร้อมมุ่งเน้นพัฒนารากฐานความรู้และทักษะของนักออกแบบ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยใช้แนวคิดจากประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรมภาคใต้ ที่สามารถพัฒนาเป็นลวดลายผ้าอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อพัฒนอาชีพ สร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างบุคลากร ภายใต้เป้าหมาย สวย ดี มีคุณภาพ และเป็นสากล ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนาภายใต้ 4 กิจกรรม ประกอบไปด้วย

กิจกรรมที่ 1 การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมสู่เชิงพาณิชย์

เน้นการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่การขายจริง โดยจากการดำเนินงานในปีนี้ สถาบันฯ ได้ผลักดัน ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม ภายใต้แบรนด์ LAWA@THTI ในคอลเลคชั่น บุหงาสลาตัน 2 ที่มีแรงบันดาลใจมาจากความสวยงามของดอกไม้ในท้องถิ่นทั้ง 5 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบไปด้วย ดอกหม้อข้าวหม้อแกงลิง ดอกต้อยติ่ง ดอกชงโค ดอกพลับพลึง และดอกอัญชัน โทนสีที่เลือกใช้ในคอลเลคชั่นนี้ คือ สีม่วง สีฟ้า และสีเขียว โดยนำไปจัดแสดงและออกจำหน่ายในงาน Bangkok International Fashion Fair and Bangkok International Leather Fair 2014 (BIFF&BIL) ณ อิมแพคเมืองธานี รวมทั้ง ร่วม Business Matching และแสดงแฟชั่นโชว์ใน งาน Thailand Trade Show 2014 เมื่อวันที่ 19 – 22 มิถุนายน 2557 ณ ประเทศสิงคโปร์ และงานแสดงสินค้าแฟชั่น Hong Kong Fashion Week 2015 ซึ่งได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้จัดทำเว็บไซต์ http://shop.muslim-thti.org/ สำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างโอกาสและช่องทางการค้าขายให้กับแบรนด์ LAWA@THTI อีกด้วย

กิจกรรมที่ 2 การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี ประกอบไปด้วย 3 กิจกรรมหลักคือ

1.กิจกรรมประยุกต์ใช้น้ำยางพาราและพืชให้สี เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นโครงการที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ประกอบการผ้าบาติกที่สามารถช่วยเสริมศักยภาพและสร้างเอกลักษณ์ โดยการนำน้ำยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจมาพัฒนาแม่พิมพ์ลวดลายผ้าบาติกและใช้เป็นสารเหลวเขียนลวดลายผ้าบาติก ทดแทนการใช้เทียนและพาราฟิน ลดปริมาณการนำเข้าอุปกรณ์ที่มีราคาแพง อีกส่วนเป็นการย้อมสีธรรมชาติจากพืชให้สีในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ใบยางพารา เปลือกยางพารา ใบลองกอง เปลือกโกงกาง เปลือกสะเดา ดอกดาหลา ส้มแขก เพิ่มความสวยงามให้กับบาติก โดยพัฒนาและออกแบบตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม 5 คอลเลคชั่น จาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ ในคอลเลคชั่น La Para ประกอบไปด้วย

จังหวัดปัตตานี แรงบันดาลใจ : เรื่องราวช่องลมในงานสถาปัตยกรรมโบราณที่สวยงามของจังหวัด

จัวหวัดยะลา แรงบันดาลใจ : ลวดลายความเก่าแก่ของแกนไม้ที่มีความสวยงามของธรรมชาติ

จังหวัดนราธิวาส แรงบันดาลใจ : ความสวยงามของเรือกอและ ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น

จังหวัดสตูล แรงบันดาลใจ : ความสวยงามของน้ำในท้องทะเล

จังหวัดสงขลา แรงบันดาลใจ : สถาปัตยกรรมเมืองเก่าแก่ อารยธรรมโบราณ

2.กิจกรรมการพัฒนาโครงสร้างผ้าทอในจังหวัดสงขลา โดยพัฒนา 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ

2.1. กลุ่มร่มไทรพัฒนาผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ โดยใช้เทคนิคการพัฒนาผ้าทอมือจากเส้นใยธรรมชาติ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ชุดผ้าบุโซฟา โคมไฟ ผ้าปูโต๊ะรับแขกของชุดโซฟา ผ้ารองแก้ว

2.2 กลุ่มทอผ้ากระแสสินธุ์ พัฒนาผ้าทอมือหางกระรอก โดยใช้เส้นด้ายยืนเป็นฝ้าย เส้นด้ายพุ่งเป็นไหมควบ 2 สี เพื่อทำลายหางกระรอก (Color Effects) ทำให้ได้ผ้าหางกระรอกที่มีความมันวาว น้ำหนักเบา เมื่อนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าจะมีความสวยงาม และมีความพริ้วไหวทิ้งตัว สวมใส่สบาย เมื่อเปรียบเทียบกับผ้าฝ้าย 100 % รวมทั้งมีราคาไม่แพงอีกด้วย

3.กิจกรรมการพัฒนาองค์ความรู้ เทคนิคกระบวนการทำผ้าบาติก ด้วยวัสดุ และเทคโนโลยีตกแต่งสำเร็จ เพื่อทำเสื้อผ้าบาติกชุดมุสลิมด้วยการออกแบบลวดลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ผสมผสานการใช้คอลเลคชั่น Spring / Summer 2015 และแรงบันดาลใจจากว่าวควาย ว่าวควายภาษามลายู เรียกว่า “วากูบา” เป็นว่าวพื้นเมืองและเป็นสัญลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของสตูล และลายดอกประจำยามที่ตกแต่งในตัวว่าว มาออกแบบลวดลายผ้า

เทคนิคการพิมพ์ผ้าบาติกด้วยบล็อกไม้ เน้นการทำบาติกบนวัสดุใหม่ ประเภทผ้าใยสังเคราะห์หลายชนิด โดยมีลักษณะรูปแบบของความทันสมัย กระฉับกระเฉง แต่ก็แฝงไปด้วยความอ่อนหวาน

กิจกรรมที่ 3 ถ่ายทอดองค์ความรู้มาตรฐานผลิตภัณฑ์

สร้างความตระหนักด้านคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ บุคลากรภาครัฐ ภาคการศึกษา และหัวหน้ากลุ่มชุมชน โดยดำเนินกิจกรรมผ่านกระบวนการอบรมผู้ถ่ายทอด (Train the trainer) และฝึกอบรมผู้ประกอบการสิ่งทอในพื้นที่ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอภายในประเทศและประเทศคู่ค้า ยกระดับผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายมุสลิมให้สอดคล้องตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างแบบที่ได้มาตรฐานนำไปสู่การตัดเย็บที่มีสัดส่วน (Size) เหมาะสมกับผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สถาบันฯ จะเร่งพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ในปีหน้า

กิจกรรมที่ 4 การจัดทำฐานข้อมูลและติดตามประเมินผล 5 จังหวัดชายแดนใต้

ในมิติโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ ข้อมูลด้านการตลาด และผลกระทบ ความสำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ต่อการสร้างงาน สร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งทอ ของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา พัฒนาต่อยอดการดำเนินธุรกิจ ต่อไปในอนาคต

โดยภายหลังจากการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการเกิดความสามัคคี มีความเข้มแข็งของคนในชุมชนและองค์กร เนื่องจากสมาชิกกลุ่มได้เข้ารับการฝึกอบรมเสริมสร้างความรู้ด้านต่างๆ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบหลากหลาย มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด และมีความพยายามใช้ผลผลิตที่มีอยู่ในท้องถิ่นในการผลิต นอกจากนั้นยังเกิดการถ่ายทอดความรู้ระหว่างกัน เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในท้องถิ่น โดยใน 2 ปีที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมโครงการเห็นว่าสามารถเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนถึงร้อยละ 45 เป็นอาชีพเสริมให้แม่บ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15 - 20 ต่อเดือน และสร้างอาชีพหลักที่เป็นรายได้ประจำเดือนละ 2,000 - 10,000 บาท ความพยายามและมุ่งมั่นดังกล่าวของโครงการน่าจะมีส่วนช่วยลดปัญหาความไม่สงบในระยะยาวได้

อย่างไรก็ตามสำหรับการดำเนินโครงการ พัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2558 เตรียมเปิดรับผู้ประกอบการ 5 จังหวัดชายแดนใต้เข้าร่วมโครงการ พร้อมตั้งเป้าหมายสร้าง ความร่วมมือและนำสิ่งทอเชื่อมโยงคุณค่าในท้องถิ่นสู่คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมที่ดี รวมทั้งเตรียมความพร้อมเพื่อต้อนรับการเปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นี้อย่างเป็นทางการ

โดยข้อมูลโครงการทั้งหมดสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โทร. 0 2713 5492 – 9 ต่อ 224 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.muslim-thti.org , www.thaitextile.org/muslim

สถาบันฯสิ่งทอหนุนพัฒนาเครื่องแต่งกายมุสลิม สวย ดี มีคุณภาพและเป็นสากล