นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทิส” ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า เคทิสจะได้ประโยชน์อย่างมาก หากทุกอย่างเป็นไปตามร่างยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย ที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าหมายในปี 2567 เพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีก 6 ล้านไร่ จาก 10.07 ล้านไร่ เป็น 16.07 ล้านไร่ ซึ่งจะได้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 103.68 ล้านตันต่อปี เป็น 182.04 ล้านตันอ้อยต่อปี และจะได้ชานอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 28 ล้านตันเป็น 53.2 ล้านตัน นำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ราว 4,000 เมกะวัตต์ อีกทั้งจะได้วัตถุดิบในการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 2.5 ล้านลิตรต่อวันเป็น 5.38 ล้านลิตรต่อวัน
“กลุ่มเคทิสเรามีความพร้อม ทั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทรายที่มีกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก โรงงานผลิตเอทานอลที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ โรงผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย ที่มีอยู่เดิมขนาด 60 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มอีก 2 แห่ง ขนาดโรงละ 50 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีโรงงานที่ผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อยอ้อย ดังนั้น ยิ่งมีผลผลิตอ้อยมากขึ้น โรงงานเหล่านี้ก็จะมีวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานมากขึ้น ทำให้มีรายได้มากขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาสามารถเปิดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ 7-8 เดือนต่อปี ก็น่าจะเปิดได้ถึง 10 เดือน ดังนั้น อนาคตของกลุ่มเคทิสจึงมีแนวโน้มของการเติบโตที่ดีและมั่นคงยั่งยืน” นายประพันธ์กล่าว
นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ กลุ่มเคทิส กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจของกลุ่มเคทิสนั้นแบ่งเป็น 2 ด้านหลักๆ คือ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ซึ่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แต่ก็ยังผูกติดกับราคาน้ำตาลในตลาดโลก กับธุรกิจด้านชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ซึ่งมีอัตราการขยายตัวที่สูง สอดคล้องกับแผนพลังงานของรัฐที่พยายามส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยในครึ่งปีแรกของปี 57 สัดส่วนรายได้ในสายธุรกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 69% และธุรกิจด้านชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องประมาณ 31% แบ่งเป็น จากการจำหน่ายเยื่อกระดาษประมาณ 11% จำหน่ายเอทานอลประมาณ 10% จำหน่ายไฟฟ้าจากชานอ้อยประมาณ 6% และอื่นๆประมาณ 4%
“ในครึ่งปีแรกเรามีรายได้จากการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย 532.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 437.3% ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการเติบโตที่สูงมาก แต่ในครึ่งปีหลังเราไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้ง 6 เดือน เพราะต้องมีช่วงของการหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงรักษา พร้อมๆ กับรอการหีบอ้อยรอบใหม่เพื่อให้มีเชื้อเพลิงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากมีการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น เราก็มีชานอ้อยที่เป็นเชื่อเพลิงมากขึ้น รายได้ของเราจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าย่อมสดใสแน่นอน เรียกได้ว่าเป็นการโตแบบก้าวกระโดด ส่วนธุรกิจอื่นๆ เช่น การจำหน่ายเอทานอล ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางเราก็มีความพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับ” นายณัฏฐปัญญ์กล่าว
ทั้งนี้ จากตัวเลขรายได้จากการขายและการให้บริการในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2557 (มกราคม-มิถุนายน 2557) จำนวน 8,897.91 ล้านบาท มาจากการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย 6,115.19 ล้านบาท, การจำหน่ายเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย 945.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกของปี 2556 ประมาณ 18.7%, จากการผลิตเอทานอล 916.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 6.1%, ที่เหลือคือรายได้จากการบริการจักรกลทางการเกษตรและอื่นๆอีก 387.42 ล้านบาท
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit