นายสุเทพ วงศ์รื่น นายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่าวิชาชีพสัตวบาลมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลและให้คำแนะนำแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ โดยมุ่งเน้นควบคุมในเรื่องอาหารปลอดภัยตลอดกระบวนการผลิตสัตว์ ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์จนถึงโต๊ะอาหาร (from farm to table) ผู้ประกอบวิชาชีพสัตวบาลจะมุ่งมั่นในหลักการ “รับใช้สังคม ส่งเสริมสามัคคี ศักดิ์ศรีเชิดชู รอบรู้ทันโลก” โดยเน้นเรื่องความกินดีอยู่ดีของเกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงสัตว์ให้มีสุขภาพดี เพื่อลดต้นทุนทั้งด้านการเลี้ยงและการใช้ยารักษา ที่จะส่งผลให้เกิดผลผลิตสัตว์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค การทำงานร่วมกันระหว่างสัตวบาลและเกษตรกรในระบบคอนแทรคฟาร์มจึงเป็นไปในลักษณะพี่เลี้ยง ที่ดูแลให้เกษตรกรเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ บางบริษัทวัดผลงานของสัตวบาลจากประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วยซ้ำ จึงเป็นไปไม่ได้ที่สัตวบาลจะมุ่งยัดเยียดให้เกษตรกรลงทุนจนเป็นหนี้ไม่รู้จบ
ขณะที่ระบบคอนแทรคฟาร์ม เป็นเครื่องมือสากลในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และมีบริษัทเกษตรทั้งพืชและสัตว์จำนวนมากที่นำระบบนี้ไปประยุกต์ใช้ หัวใจของคอนแทรคฟาร์มคือการทำธุรกิจของเกษตรกรที่มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ภายใต้การผลิตที่ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานที่บริษัทจำเป็นต้องกำหนดให้เกษตรกรทำตามเพื่อลดความเสี่ยงด้านการผลิตและความปลอดภัยในอาหารอันจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้บริโภคนอกจากนี้ การที่สถาบันการเงินเสนอเงินกู้ให้แก่ลูกหนี้เพิ่มขึ้น ย่อมหมายความว่าลูกหนี้รายนั้นมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี และมีความสามารถในการผ่อนชำระซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ มิใช่การเป็นหนี้ไม่รู้จบของเกษตรกรในระบบ
ด้าน น.สพ.ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย เผยว่า สมาคมฯร่วมกับกรมปศุสัตว์ จัดทำมาตรการร่วมกันในการเร่งปรับปรุงการเลี้ยงและจัดทำมาตรฐานฟาร์มอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในเรื่องของการควบคุมการใช้ยาและเวชภัณฑ์ในการเลี้ยงสัตว์ที่ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในกระบวนการผลิตหมูของไทยที่มีพัฒนาการและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลิตเนื้อหมูคุณภาพสูงสำหรับการบริโภค
“สัตวแพทย์คือผู้ที่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพสัตว์ ที่ยืนหยัดในการแนะนำทั้งการเลี้ยง การจัดการ และการควบคุมโรค เช่น การดูแล-การเฝ้าระวังสัตว์ป่วย ระยะการหยุดยา การทำลายซาก ตลอดจนสร้างความเข้าใจในการป้องกันโรคแก่ผู้ประกอบการ ผู้คนในชุมชน ผู้นำชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความสำนึกรับผิดชอบต่ออาชีพ และสังคมโดยรวมเพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิตที่ดี มีคุณภาพสู่ผู้บริโภค” น.สพ.ปราโมทย์ กล่าว
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เสริมว่า ในส่วนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของไทยทุกคนต่างมุ่งผลิตสุกรที่มีคุณภาพและอยู่ภายใต้มาตรฐานและการกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ ขอให้มั่นใจในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทย
ด้าน นายสมศักดิ์ ฤทธิ์จรุง นายก สมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ นายวีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล นายก สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ และ น.สพ.ประกิต เพียรศิริภิญโญ รองเลขาธิการ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า อุตสาหกรรมอาหารมีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานและเกี่ยวเนื่องกับคนจำนวนมากตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ เกษตรกรเลี้ยงสัตว์ การขนส่ง แรงงานในโรงงาน รวมถึงธุรกิจต่อเนื่องต่างๆ จนถึงการส่งออก และยังเป็นตลาดรองรับพืชผลทางการเกษตรของไทย ทางสมาคมฯ จึงขอวอนทุกท่านพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบต่อเนื่องที่จะตามมาจากการส่งต่อข้อมูลดังกล่าว
นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ติดอันดับ 4 ของโลก และมีการส่งออกเนื้อไก่ 80-90% ไปยังตลาดสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ซึ่งทั้งสองตลาดนี้ให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีกฎระเบียบที่ห้ามใช้ฮอร์โมนและสารปฏิชีวนะในการเลี้ยงไก่ และที่ผ่านมาไทยปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตทั้งในประเทศและมาตรฐานสากลอย่างครบถ้วน ผู้ประกอบการไทยล้วนให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานและระบบปฏิบัติด้านการผลิตตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงมือผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด โดยยึดถือความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ขณะที่ประเทศคู่ค้าทั้งสองจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจระบบการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอาหารทุกปี ดังนั้น การกล่าวหาว่าไก่ไทยมีสารปฏิชีวนะตกค้างจึงเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
ปัจจุบัน ประเทศไทยดำเนินการผลิตอาหารภายใต้มาตรฐานสากล อาทิ GAP, GMP, HACCP, ISO9002, ISO14001, TIS18001, ISO/IEC17025, BRC รวมถึง HALAL ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตและเป็นที่ยอมรับของตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะสำหรับภาคการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ที่มีมาตรฐานฟาร์มและโรงงานที่ต้องผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์ มีการควบคุมการเลี้ยงสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ที่ว่าด้วยการเลี้ยงสัตว์อย่างไม่แออัดและปราศจากการทรมานสัตว์เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพดีปลอดภัยต่อการบริโภค เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) โดยในระบบการผลิตที่ฟาร์มจะมีสัตวแพทย์กำกับดูแล และที่โรงงานจะมีนายสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ตรวจเนื้อของกรม - ปศุสัตว์ประจำโรงงาน เพื่อตรวจคุณภาพเนื้อและสารตกค้างต่างๆ ก่อนนำไปจำหน่าย./
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit