การท่าเรือแห่งประเทศไทยมุ่งมั่น เปิดประตูเศรษฐกิจสู่เมียนมาร์และกลุ่ม BIMSTEC ด้วย “ท่าเรือระนอง”หวังเป็นเส้นทางขนส่งหลักฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน

12 Sep 2014
การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดงานดินเนอร์ทอล์ค : “ท่าเรือระนอง ประตูเศรษฐกิจสู่เมียนมาร์” โดย การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้เชิญนักลงทุนผู้ประกอบการทั้งในประเทศไทยและสหภาพเมียนมาร์ร่วมเสวนาในประด็นต่างๆอาทิ ระบบขนส่งและโลจิสติกส์เชื่อมเส้นทางการค้า กับสหภาพเมียนมาร์ โดย ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ ผอ.วิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ม.นเรศวร, ปัจจัยความสำเร็จสู่เส้นทางการค้าไทย-เมียนมาร์ โดย นายประจวบ สุภินี นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์นโยบายในการพัฒนาท่าเรือระนอง รองรับการเป็นประตูเศรษฐกิจสู่เมียนมาร์ โดย นายสุรพงษ์ รงศิริกุล รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ และโอกาสเศรษฐกิจไทย เชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับ สหภาพเมียนมาร์​ โดย นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เป็นต้น

นายสุรพงษ์ รงศิริกุล รองผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ เปิดเผยว่า “ท่าเรือระนอง” ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง เป็นท่าเรือน้ำลึกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดทางทะเลฝั่งอันดามันของไทย และมีท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือตู้สินค้าขนาดไม่เกิน 12,000 เดดเวทตันได้ ซึ่งมีการพัฒนาและมีความพร้อมที่จะให้บริการเรือตู้สินค้าผ่านท่าเรือระนองอย่างสมบูรณ์แบบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้า

“การท่าเรือแห่งประเทศไทยมุ่งมั่นสร้างท่าเรือระนองให้เป็นประตูเศรษฐกิจสำคัญของไทย โดยเป็นฐานการขนส่งหลักและกระจายตู้สินค้าทางทะเลฝั่งอันดามันผ่านท่าเรือระนองไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สหภาพเมียนมาร์ กลุ่มประเทศ BIMSTEC ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเข้าร่วมกับอีก 6 ประเทศคือ บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย สหภาพเมียนมาร์ เนปาล และศรีลังกา ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจสหภาพเมียนมาร์กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสทางการค้าสูงมาก จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ เพราะจะช่วยร่นระยะเวลาและระยะทางในการเดินเรือสินค้าไปยังสหภาพเมียนมาร์และประเทศในแถบฝั่งอันดามันหรือมหาสมุทรอินเดียลงประมาณ 3 เท่า โดยเหลือเพียง 4-7 วันเท่านั้น เมื่อเทียบกับเส้นทางที่ผู้ประกอบการใช้ในปัจจุบัน ที่ต้องผ่านท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเรือแหลมฉบังก่อนจะอ้อมผ่านสิงคโปร์ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน อีกทั้งยังมีการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานต่างๆให้คล่องตัว รวดเร็ว และสะดวกมากขึ้นด้วย ซึ่งอนาคตอาจจะขยายเส้นทางให้กลายเป็นจุดเชื่อมโยงสู่แอฟริกาใต้ได้ด้วย” นายสุรพงษ์กล่าว

นายสุรพงษ์เปิดเผยด้วยว่า จุดแข็งสำคัญสำหรับท่าเรือระนองนั้น นอกจากจะตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจที่จะช่วยย่นทั้งระยะเวลาการขนส่งและระยะทาง ค่าธรรมเนียมที่ไม่สูง และการมีคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปแล้วนั้น การท่าเรือแห่งประเทศไทยยังได้เชิญ Myanmar Port Authority (MPA) ซึ่งเป็นองค์กรของภาครัฐที่ดูแลท่าเรือทั้งหมดของสหภาพเมียนมาร์ร่วมทำ MOU เพื่อส่งเสริมให้มีสายการเดินเรือร่วมกันระหว่างไทยกับสหภาพเมียนมาร์อีกด้วย โดยมีแนวโน้มที่จะมีลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้าและการขนส่งกับท่าเรือในย่างกุ้งเร็วๆนี้ เพื่อเปิดประตูเศรษฐกิจรับประชาคมอาเซียนร่วมกัน