ร่วมเดินหน้าโรดแมพ 4 สินค้าเกษตร เกษตรฯ เร่งยุทธศาสตร์ครบทุกมิติสู่ความยั่งยืน

11 Sep 2014
สศก. เผย โรดแมพ 4 สินค้าเกษตร พร้อมเดินหน้า ลุยยุทธศาสตร์ ข้าวโพด มันฯ ปาล์ม และอ้อย แบบครอบคลุมทุกมิติ หวังสร้างความยั่งยืน ระบุ เตรียมเสนอคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้าเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์และแผนงาน 10 กันยายนนี้

นาย อนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า จากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์ สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (Roadmap) คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเลขานุการ นั้น โดยได้ดำเนินการการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ (Roadmap) 4 สินค้าขึ้น ประกอบด้วยคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Roadmap) และคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ (Roadmap) มีอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธาน ส่วนคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม (Roadmap) มีเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นประธาน และคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย (Roadmap) มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้แทน เป็นประธาน ซึ่งการจัดทำยุทธศาสตร์ทั้ง 4 สินค้า จะดำเนินการให้ครอบคลุมทุกมิติ และสร้างความยั่งยืนโดยให้พิจารณาจากปัจจัยภายนอก ร่วมกับปัจจัยภายใน

การ จัดทำยุทธศาสตร์นั้นได้พิจารณาถึงสถานการณ์การผลิตและความต้องการใช้ของพืช ทั้ง 4 สินค้า ทั้งในระดับโลก และอาเซียน เพื่อนำมากำหนดเป็นเป้าหมายในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า รวมทั้งพิจารณาผลกระทบของการเปิดเสรีการค้าอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น พิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยยกร่างยุทธศาสตร์และจัดทำมาตรการและแนวทางการดำเนินงาน 4 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (น้อยกว่า 1 ปี) ระยะสั้น(1-3 ปี) ระยะปานกลาง(3-5 ปี) และระยะยาว(5-10 ปี) เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์ฯ ต่อไป

สำหรับยุทธศาสตร์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Roadmap) ขณะ นี้อยู่ระหว่างการจัดทำวิธีดำเนินงานตามมาตรการ 7 ด้าน ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพ การปรับโครงสร้าง การบริหารจัดการพื้นที่ การสร้างมูลค่าเพิ่ม การบริหารจัดการภายใต้ AEC การสร้างเสถียรภาพราคา และทิศทางการใช้ GMOs และจัดลำดับความเร่งด่วนของแต่ละมาตรการตามแนวทางการดำเนินงาน 4 ระยะ ยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ (Roadmap) การดำเนินการระยะเร่งด่วน คือการรักษาระดับราคามันสำปะหลังและบริหารจัดการมันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนระยะสั้น(1-3 ปี) จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดการพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ การจัดตั้งและพัฒนาเขตเกษตรเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ระยะปานกลาง(3-5 ปี) เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากมันสำปะหลัง และการผลักดันนโยบายการใช้พลังงานทดแทน ส่วนระยะยาว(5-10 ปี) เดินหน้าการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ รวมทั้งการพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางในการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของโลก

ยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม (Roadmap) ระยะเร่งด่วน จะบริหารจัดการสต็อกเพื่อรักษาระดับราคา ระยะสั้น(1-3 ปี) เพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพเพื่อสนองความต่องการพลังงานทดแทน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ด้านข้อมูลสารสนเทศ การจัดการตามกลไกตลาด และพรบ.ปาล์มน้ำมัน ระยะปานกลาง(3-5 ปี) เพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม และจัดทำระบบโลจิสติกส์ เร่งวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่วนระยะยาว(5-10 ปี) คือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย (Roadmap) ระยะเร่งด่วน ดำเนินการทบทวนแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้ครบทั้งวงจรและยั่งยืน พร้อมนำเทคโนโลยีการจัดการฟาร์มสมัยใหม่ (Modern Farm) มาใช้ ระยะสั้น(1-3 ปี) ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการอุตสาหกรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ระยะปานกลาง(3-5 ปี) คือการสร้างมูลค่าเพิ่มการขยายการผลิตเอทานอล อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และระยะยาว(5-10 ปี) จะพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องและการสร้าง Value added เช่นอุตสาหกรรมไบโอเคมีคัล

ทั้งนี้ จะได้นำเสนอคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (Roadmap) คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ในวันที่ 10 กันยายน 2557 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์และแผนงาน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการและงบประมาณดำเนินการต่อไป