โดยมีกลุ่มนักแสดงวัยรุ่นจากซีรี่ย์ยอดฮิต “ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น 2” นำโดย เบลล์- เขมิศรา พลเดช, อัด-อวัช รัตนปิณฑะ, ปีโป้-จักรพันธ์ พันธุ์สถิตวงศ์ และคลอดีน อทิตยา เครก ตัวแทน “พลังฮอร์โมนรุ่นใหม่ ร่วมรณรงค์บริจาคโลหิต” ให้เยาวชนรุ่นไทยตระหนักถึงความสำคัญ และ การเตรียมพร้อมก่อนบริจาคโลหิต เป็นอีกพลังของการให้เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ นอกจากนี้การบริจาคโลหิตยังช่วยทำให้ร่างกายมีการกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดเลือดใหม่ออกมาชดเชย การบริจาคเลือดสามารถทำได้ทุกๆ3 เดือน ในผู้ชายและทุก 6 เดือนในผู้หญิง ขอเพียงมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว อายุระหว่าง 18-60 ปี น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 50 กิโลกรัม และนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมงพร้อมปิดท้ายด้วยการสาธิต Cardio Exercise เต้นเพื่อสุขภาพที่ดี เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา จาก Fitness Center รพ.ศิริราช ณ บริเวณโถงบริการผู้ป่วยนอกชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
ศ.นพ.กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิศิษฏ์กุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กล่าวในงานเสวนา ในหัวข้อ “เคลียร์ปัญหาหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด” ว่า สถานการณ์โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดในปัจจุบัน พบได้ 1 ใน 3 เป็นทารก พูดง่ายๆ คือ ถ้าทารก 1000 คน เป็นโรคนี้ 7.7 ราย และ มีแค่ร้อยละ 1 รู้ตัวตั้งแต่แรกคลอด โดยในแต่ละปีต้องการการผ่าตัด 5,000-6,000 ราย ต่อปี แต่สามารถผ่าตัดได้ 3,500 คน ที่เหลือไม่ได้รับการผ่าตัด โรคนี้ปัจจุบันมีจำนวนลดลง แต่เป็นเพราะอัตราการเกิดน้อยลง คนไม่แต่งงาน ไม่อยากมีลูก
ปัจจุบันโรคนี้เป็นโรคที่เกิดได้ทั้งจาก 1. พฤติกรรมของมารดาในขณะตั้งครรภ์ เช่น แม่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าตอนตั้งครรภ์ หรือ แม่ที่อายุเกิน 35 ปี ต้องตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียด 2. เกิดจากตัวเด็กเองที่มีโครโมโซมผิดปกติ เช่น เด็กเกิดมาเป็นดาวน์ซินโดรม และกลุ่มที่ 3 เกิดจากการผิดปกติของการแบ่งตัวของช่องหัวใจเด็กเอง ก็อาจมีโอกาสเสี่ยงเป็นได้ รวมถึงสาเหตุจากพันธุกรรม อาจเกิดขึ้นได้เป็นบางราย วิธีคัดกรองการเกิดโรคหัวใจในเด็กนั้น อันดับแรกก่อนตั้งครรภ์คุณพ่อคุณแม่ควรมาตรวจร่างกายเพื่อวางแผนก่อนที่จะมีลูก หรือบางครอบครัวที่ลูกคนที่ 1 มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ต้องเข้ามาปรึกษาหากต้องการที่จะมีลูกคนที่ 2 ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ลูกคนที่ 2 เป็นโรคดังกล่าว ด้วยการตรวจตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ อัลตร้าซาวต์ เจาะน้ำคร่ำ จากนั้นตรวจตอนคลอดออกมาเป็นทารกแล้ว รวมกึงสกรีนตอนเด็กอยู่โรงเรียน ซึ่งเดี๋ยวนี้หลายโรงเรียนจะมีโปรแกรมให้แพทย์ไปตรวจ สุขภาพเด็กทั่วไป เช่น การเช็คฟัน เช็คตา และฟังเสียงหัวใจ และการตรวจสุขภาพ วิธีนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสกรีนคนไข้ได้ และสุดท้ายคือ รอให้คนไข้มีอาการค่อยมาพบแพทย์
ส่วนสาเหตุของหัวใจผิดปกตินั้น ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ความผิดปกติเกิดในขั้นตอนการสร้างอวัยวะตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งอาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสในช่วง3เดือนแรกหรือเกิดจากกรรมพันธุ์ โดยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมี 2 ชนิด ได้แก่ 1.ชนิดเขียว หรือ มีออกซิเจนในเลือดต่ำ เกิดจากความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด หรืออย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้เลือดดำปนกับเลือดแดงที่ไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้เด็กเกิดภาวะขาดออกซิเจน ผิวจึงมีสีเขียวคล้ำม่วง ซึ่งจะเห็นได้ชัดขณะร้องหรือดูดนม และอาจมีความผิดปกติอื่นๆ ที่ค่อนข้างรุนแรง 2.ชนิดไม่เขียว เกิดจากความผิดปกติในโครงสร้างของระบบหลอดเลือดและหัวใจ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไม่มีการผสมกันของเลือดดำและเลือดแดง โดยความผิดปกติอาจเกิดที่ผนังกั้นหัวใจมีรูลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท (รั่ว) หรือไม่กว้างเท่าปกติ (ตีบ) โดยมี 3 สัญญาณเตือน โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดไม่เขียว อาทิ ตรวจพบเสียงหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยบังเอิญ ได้แก่ เสียงฟู่ของหัวใจ มีอาการหัวใจวาย หรือ กล้ามเนื้อหัวใจทำงานลดลง ทำให้เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย เด็กเล็กมักดูดนมได้ครั้งละน้อยๆ หายใจเร็ว น้ำหนักตัวขึ้นช้า เป็นต้น หรือ เป็นลมหมดสติ มักพบในรายที่มีอาการตีบแคบอย่างรุนแรงของหลอดเลือดแดง ในส่วนลิ้นหัวใจ ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายและสมองไม่เพียงพอ
“ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเหนื่อย หายใจเร็ว น้ำหนักตัวขึ้นช้า หรือตัวเล็กกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ในผู้ป่วยบางรายนั้นก็สามารถเกิดขึ้นในภายหลังได้ เด็กเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับยาเพื่อช่วยการทำงานของหัวใจ การรักษาต้องทำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรับประทานอาหาร บิดามารดาหรือผู้ปกครองควรให้ความร่วมมือกับแพทย์ในการรักษาบุตรหลานอย่างจริงจัง” ศ.นพ.กฤตย์วิกรมกล่าว
สำหรับแนวทางการการรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (ชนิดไม่เขียว)นั้น ศ.นพ.กฤตย์วิกรม แนะนำว่า 1. สามารถรักษาด้วยยา เพื่อประคับประคองอาการในรายที่หัวใจมีความผิดปกติไม่มากและมีโอกาสหายได้เอง 2.รักษาด้วยการสวนหัวใจ ในผู้ป่วยที่สามารถใส่อุปกรณ์สายสวนหัวใจได้ 3.รักษาด้วยการผ่าตัด ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล ซึ่งการผ่าตัดส่วนใหญ่มักได้ผลดี แต่อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของการผ่าตัดขึ้นอยู่กับความผิดปกติของหัวใจ รวมทั้งสภาวะร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย
“ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด ควรระมัดระวังในการใช้ยา ไม่ควรลดหรือเพิ่มยา ถ้ายาหมดก่อนเวลานัดหมาย ต้องมาพบแพทย์เพื่อรับยาก่อน ควรรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับพัฒนาการและความรุนแรงของโรค เช่น สำหรับเด็กอายุแรกเกิด ถึง 1 ปี ในบางรายจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการให้นมต่อมื้อ เพราะถ้ากินนมมากเกินไปอาจเกิดการสำลัก และ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม ส่วนเด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ควรตรวจร่างกายประจำปี รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และให้พลังงานสูง และควรได้รับวัคซีนเสริมบางชนิด หมั่นดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน เพื่อลดโอกาสติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ พบทันตแพทย์ตรวจฟันทุก 6 เดือน และต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่าป่วยเป็นโรคหัวใจ งดออกกำลังกายที่หักโหม ดูแลเรื่องการขับถ่าย โดยฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นนิสัย เพราะโรคหัวใจเป็นโรคที่มองไม่เห็น มีอาการ เหนื่อย แน่น เจ็บหน้าอก หน้ามืด เป็นลม ฉะนั้นต้องค่อยๆ ดูแลสุขภาพตัวเอง พยายามควบคุม 3 อย่าง
1. คือ น้ำหนักตัว ให้อยู่ในระดับที่ปกติ 2. เรื่องอาหารบางกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น เค็ม ไขมัน 3.การออก กำลังกายให้เหมาะสม ทำได้ 3 อย่างนี้หลายโรค ทั้งเบาหวาน ไต ก็จะปลอดภัย” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจแนะนำ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit