มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผนึกความร่วมมือกลุ่มทรู สร้างมิติใหม่นวัตกรรมวงการการศึกษา เปิดตัว “True Lab @ Thammasat” ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมพร้อมส่ง “myCampus TU” แพลทฟอร์มเครือข่ายสื่อสารแบบใหม่เพื่อประชาคมธรรมศาสตร์

26 Sep 2014
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับมือกลุ่มทรู นำนวัตกรรมเทคโนโลยีสื่อสารมาพัฒนาด้านการศึกษา ตามนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้แบบ “แอ็คทิฟ เลิร์นนิ่ง” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เน้นให้ผู้เรียนพัฒนาศักยภาพผ่านการเรียนรู้ด้วยตนเอง พร้อมเปิดศูนย์วิจัย “True Lab @ Thammasat” สำหรับอาจารย์-นักศึกษา ได้ใช้เป็นแหล่งคิดค้นผลงานวิจัย และบ่มเพาะนวัตกรในอนาคต เพื่อก้าวสู่มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ และออกแบบแอพพลิเคชั่น “myCampus TU” แพลทฟอร์มเครือข่ายการสื่อสารรูปแบบใหม่เพื่อชาวธรรมศาสตร์โดยเฉพาะ มุ่งให้ผู้เรียนได้รับทั้งสาระและความบันเทิง ควบคู่กับการเป็นเครือข่ายการสื่อสารของประชาคมธรรมศาสตร์ ได้แก่ ศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า คณาจารย์ และบุคลากร เพื่อให้สามารถติดต่อถึงกันได้ทุกที่ ทุกเวลาแบบไร้ขีดจำกัด ภายใต้แนวคิด “Thammasat Everywhere, Thammasat Every time”

ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ธรรมศาสตร์และทรู มีแนวคิดที่สอดคล้องกัน ในเรื่องของการส่งเสริมงานด้านการวิจัย เพื่อให้เกิดการคิดค้นและต่อยอดเป็นผลงานทางด้านนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยมีนโยบายหลักในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับการศึกษา ทั้งด้านการวิจัย ความเป็นนานาชาติ การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน และล่าสุด นโยบายส่งเสริมการเรียนรู้แบบ “แอคทิฟ เลิร์นนิ่ง” ซึ่งเป็นวิธีบริหารจัดการ การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนด้วยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอาจารย์และนักศึกษา โดยยึดนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง อันเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์การพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สู่การเป็นสถาบันวิชาการชั้นนำที่ได้มาตรฐานสากลในการผลิตบัณฑิต การสร้างองค์ความรู้ และมีงานวิจัยระดับนานาชาติ ซึ่งการเปิด True Lab @ Thammasat นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ผ่านการค้นคว้าวิจัยของนักศึกษาและคณาจารย์ได้เป็นอย่างดี “ส่วนแอพพลิเคชั่น myCampus TU เป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยที่จะเพิ่มรูปแบบการการเรียนรู้และการติดต่อสื่อสารในโลกสมัยใหม่ผ่านสื่อดิจิตอลที่ไร้ขีดจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ ตามแนวคิด Thammasat Everywhere, Thammasat Every time จึง ได้มอบหมายให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกแบบและสร้างแอพพลิเคชั่นนี้ขึ้นมา โดยนอกจากจะเป็นการสร้างการเรียนรู้ของนักศึกษาในรูปแบบใหม่แล้ว ยังเป็นช่องทางในการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการประกาศข่าวสาร และการเผยแพร่ความรู้วิชาการสู่สังคม ผ่านสื่อมัลติมีเดียรูปแบบต่างๆ ของมหาวิทยาลัยและคณะวิชา สำนักสถาบันต่างๆ ที่นำมาไว้บนแอพพลิเคชั่น เพื่อให้นักศึกษา บุคลากร และศิษย์เก่าได้เข้าถึงได้สะดวกรวดเร็ว” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวเสริม

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า “ด้วยความตั้งใจของกลุ่มทรูที่จะสนับสนุนการพัฒนาด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะในภาคการศึกษาของประเทศซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญในการคิดค้นและพัฒนาผลงาน เพื่อสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศ จึงเป็นที่มาของการเปิด True Lab @ Thammasat โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น โดยทรู อินโนเวชั่น และสถาบันการศึกษาชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ได้ใช้เป็นพื้นที่ค้นคว้าวิจัย พัฒนาผลงาน นวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างภาคเอกชนและภาคการศึกษา อีกหนึ่งพลังขับเคลื่อนในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ และพัฒนาบริการที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย ออกแบบและพัฒนา myCampus TU นวัตกรรมแพลทฟอร์มเครือข่ายสื่อสารสำหรับประชาคมธรรมศาสตร์ ทั้งนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร ศิษย์เก่า รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนการสอนแบบ อี-เลิร์นนิ่ง และการนำคอนเทนต์ที่มีคุณค่าและหลากหลายของสถาบัน ไปเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์กับผู้ใช้งาน ได้ทั้งความรู้และความบันเทิงแบบเอ็ดดูเทนเมนต์ โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรก ที่เปิดให้บริการในลักษณะนี้”

ทั้งนี้ True Lab @ Thammasat แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ Private Office (พื้นที่ทำงานของผู้ที่ได้รับทุนวิจัย โดยจะมีบริการสารสนเทศที่ครบวงจรและหลากหลาย อาทิ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ) Auditorium (ห้องประชุมพร้อมอุปกรณ์การประชุมที่ครบครัน) และ Community (มุมสบายๆ พร้อมบริการเครื่องดื่มและเบเกอรี่จากทรู คอฟฟี่) นอกจากนี้ ในส่วนของการประกวด ทรู แล็บ คอนเทสต์ จะเปิดรับสมัคร นิสิต นักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ร่วมโครงการทรู แล็บ เป็นทีมๆ ละ 5 คน จาก 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาสังคมศาสตร์ เช่น คณะบริหารธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ โดยแต่ละทีมจะนำเสนอแนวคิดและผลงานวิจัยภายใต้ 7 หัวข้อ ซึ่งประกอบด้วย 1.เทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเครือข่าย 2.นวัตกรรมด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ 3.นวัตกรรมด้านการเรียนรู้ 4.นวัตกรรมที่ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว 5.นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม 6.นวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ และ 7.นวัตกรรม คอนเวอร์เจนซ์ โดยทีมที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับทุนสนับสนุนเพื่อทำวิจัยและพัฒนาต่อยอดผลงาน และสำหรับทีมที่ชนะเลิศยังจะได้รับโอกาสบินไปศึกษาดูงานด้านนวัตกรรมที่ต่างประเทศทั้งทีมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย

myCampus TU เป็นนวัตกรรมแพลทฟอร์มเครือข่ายสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่นซึ่งประกอบด้วย การแชร์ - ข่าวสารหรือแจ้งประชาสัมพันธ์กิจกรรมแบบเรียลไทม์ ชม – รายการดังระดับโลก ด้วยภาพและเสียงระดับ HD พร้อม ทีวี มิวสิควิดีโอ ออนดีมานด์ รายการสดแบบ streaming รวมถึงการเรียนการสอนวิชาต่างๆ

ช้อป – ร้านค้าออนไลน์สำหรับนิสิตนักศึกษาและศิษย์เก่า เลือกซื้อของที่ระลึกและสินค้าอื่นๆของมหาวิทยาลัย เชี่ยว - เป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญได้ทุกที่ทุกเวลา และแชท - ส่งข้อความ รูปภาพฟรี แชทสนุกกับเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัย และเพิ่มความสะดวกในการติดต่อสื่อสารในการทำกิจกรรมอีกด้วย